หลายคนคงได้อ่านกันมาแล้วว่าการขี่จักรยานทำให้สุขภาพดีอย่างไรบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพกาย คราวนี้จึงขอชวนกันมาเรียนรู้ว่าการขี่จักรยานทำให้สุขภาพใจดีด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ขี่จักรยานแล้วทำให้มีความสุขมากขึ้น แน่นอนล่ะว่าส่วนหนึ่งก็มาจากสุขภาพกายที่ดี เช่น นอนหลับได้ มาดูกันนะครับ และทั้งหมดที่จะบอกนี้มีการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์มารองรับทั้งสิ้น
เรื่องแรกเลยคือ เมื่อเราเดินทางด้วยจักรยาน เราก็ไม่ต้องเครียดจากการขับรถ นสพ. เดอะ การ์เดี้ยนของอังกฤษรายงานว่าคนที่ขับรถรู้สึกว่ากุมชะตาชีวิตของตนเองมากกว่าคนที่ใช้ขนส่งสาธารณะแต่แม้จะมีความรู้สึกบวกว่าตัวเองเป็นคนกุมพวงมาลัยและได้นั่งอยู่ในสิ่งที่บ่งบอกว่าเราเป็นคนมี “ฐานะดี” พวกเขากว่าครึ่งก็ไม่ชอบการเดินทางที่ต้องทำทุกวันด้วยรถยนต์ นักวิจัยจากฮิวเล็ตต์-แพ็กการ์ดพบว่าชาวอังกฤษมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงถึง 145 ครั้งต่อนาทีเมื่อขับรถในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งมากกว่าผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีตามปกติกว่าสองเท่า จริงๆ แล้ว นักวิจัยพบด้วยความประหลาดใจว่า คนขับรถเครียดมากกว่านักบันขับไล่และตำรวจปราบจลาจลเสียอีก ยิ่งกว่านั้นคนขับรถยังทุกข์กับความรู้สึก “ไร้สมรรถภาพ”อีกด้วย ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ยากนักที่จะเข้าใจว่าทำไมคนที่ขับรถจึงรู้สึกเช่นนั้น ในเมื่อพวกเขากำลังขับเครื่องกลที่ทรงพลัง แต่กลับไปไหนไม่ได้เลยเมื่อต้องมาติดแหง็กกับการจราจร
ปวดหัว เครียด หงุดหงิด เมื่อรถต้องติดแหง็ก |
คันทางซ้ายใช้ไขมันในตัวคุณเป็นเชื้อเพลิงและช่วยประหยัดเงิน ส่วนคันทางขวาใช้เงินจึงแล่นได้และทำให้คุณอ้วน |
ประการที่สาม ขี่จักรยานทำให้คุณมีพลังมากขึ้น คนเดินทางกลุ่มเดียวที่บอกว่าสนุกกับการเดินทางประจำวันคือคนในกลุ่มที่เดินทางอย่างกระฉับกระเฉง อันได้แก่ คนที่เดินหรือวิ่ง และคนที่ขี่จักรยาน และในกลุ่มนี้คนที่ขี่จักรยานไปได้เร็วที่สุด อ้าว แต่ขี่จักรยานแล้วจะไม่ทำให้คุณเหนื่อยมากขึ้นหรอกหรือ ตรงกันข้ามกับที่คนทั่วไปนึก จริงๆ แล้ว การใช้พลังงานในการขี่จักรยานทำให้ผู้ขี่รู้สึกตื่นตัวมากขึ้นและอ่อนล้าน้อยลง รายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychotherapy and Psychosomaticsบ่งบอกว่า การขี่จักรยานลดความอ่อนล้าลงถึงร้อยละ 65 และทำให้ระดับพลังงานของผู้ขี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20นั่นเป็นเพราะว่าเมื่อคุณขี่จักรยาน ร่างกายจะปล่อยโดพามีน (dopamine)ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ที่เชื่อมโยงกับพลังงานที่ร่างกายปล่อยออกมาเมื่อเราออกกำลังกาย ในขณะที่ปล่อยคอร์ติซอล (cortisol) หรือฮอร์โมนเครียดออกมาเมื่อขับรถยนต์ ยิ่งกว่านั้น การจะให้ร่างกายได้ประโยชน์จากโดพามีน คุณไม่ต้องขี่จักรยานทุกวัน แค่สัปดาห์ละ 3 วัน และไม่ต้องขี่เร็ว ช้าไปจนถึงเร็วปานกลาง ก็เพียงพอแล้ว ถ้าคุณอยากตื่นตัว ขี่จักรยานดีกว่าขับรถแน่นอน
ประการที่สี่ การขี่จักรยานทำให้เรานอนหลับดีขึ้น สมาคมจิตวิทยาอเมริกันชี้ว่าการนอนหลับเพียงพอทำให้รู้สึกมีความสุข นักวิจัยของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในสหรัฐอเมริกา พบว่าการขี่จักรยานวันละ 20-30 นาทีช่วยให้คนที่มีอาการนอนไม่หลับจากการไม่ได้เคลื่อนไหว (sedentary insomnia) หลับเร็วขึ้นสองเท่าและเพิ่มเวลาที่พวกเขาหลับได้ไปอีกเกือบหนึ่งชั่วโมง ประโยชน์ที่ได้นี้ส่วนหนึ่งอาจมาจากแสงแดดที่เราได้รับขณะที่ขี่จักรยานด้วย ศาสตราจารย์จิม ฮอร์น แห่งศูนย์วิจัยการนอนหลับ มหาวิทยาลัยลัฟโบโร ในอังกฤษ บอกว่า แสงแดดช่วยรักษาวงจรชีวิตตามธรรมชาติของคนใน 24 ชั่วโมง (natural circadian rhythms) และลดระดับคอร์ติซอลของร่างกาย ทำให้หลับลึก มีผลดีต่อการสร้างร่างกายใหม่ งานวิจัยของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์ความยั่งยืน มหาวิทยาลัยซาเย็ด ยังเปิดเผยด้วยว่า แสงแดดเสริมการผลิตวิตามิน ดี ในร่างกายและทำให้อารมณ์ดีขึ้น
ประการที่ห้า การขี่จักรยานทำให้ผิวหนังของคุณดีขึ้น ถ้าคุณเป็นกังวลว่าการถูกแสงแดดมากจะทำลายผิวหนังของคุณ คิดใหม่ได้เลย งานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดอีกชิ้นรายงานว่าการขี่จักรยานช่วยปกป้องผิวหนังจากผลของรังสีอุลตราไวโอเล็ต โดยการทำให้เลือดไหลเวียนมากขึ้น ลดระดับท็อกซิน และพาออกซิเจนกับสารอาหารมาที่ผิวหนัง การออกกำลังกายยังส่งเสริมการผลิตคอลลาเจน ทำให้ผิวหนังยืดหยุ่นและช่วยซ่อมแซมผิวหนังด้วย
ประการที่หก คนที่ขี่จักรยานสูดมลพิษในอากาศน้อยกว่า จริงๆแล้ว คนที่ขี่จักรยานเผชิญกับมลพิษน้อยกว่าคนที่อยู่ในรถยนต์ แท็กซี่ และรถประจำทาง ซึ่งตรงข้ามกับความเชื่อของคนทั่วไปเลยทีเดียว การศึกษาของ Imperial College of London พบว่าคนขี่จักรยานเผชิญกับมลพิษเพียงราว 1 ใน 5 ของระดับที่คนในรถสูดเข้าไป
ประการที่เจ็ด การขี่จักรยานทำให้สุขภาพสมองดี เล่าผลดีของการขี่จักรยานมาตั้งหลายข้อแล้ว ถ้ายังไม่เชื่อมั่นอีกว่าการขี่จักรยานทำให้ผู้ขี่มีความสุข ก็มาดูผลของการขี่จักรยานต่อสุขภาพสมอง นักวิจัยจาก The Think Team มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ในสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้เข้าร่วมการศึกษาทำคะแนนในการทดสอบจิตใจได้ดีขึ้นร้อยละ 15 หลังจากเพิ่มสมรรถภาพของหัวใจและระบบการหายใจขึ้นอีกเพียงร้อยละ 5 ด้วยการขี่จักรยาน พวกเขาสงสัยว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากการออกกำลังกายช่วยให้สมองบริเวณที่รับผิดชอบต่อความทรงจำ คือฮิปโปแคมปัส สร้างเซลล์ใหม่ๆ ขึ้นมา ผลที่เป็นบวกนี้สามารถช่วยกันการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ในทางเดียวกัน
ประการที่แปด การขี่จักรยานทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้น ประโยชน์ของการขี่จักรยานไม่ได้หยุดอยู่ที่สมองเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเปอร์ดิวในสหรัฐอเมริกายังพบว่า การขี่จักรยานสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจลงได้ถึงร้อยละ 50 ถ้าขี่อย่างสม่ำเสมอ การขี่จักรยานแม้เพียงสัปดาห์ละ 36 กิโลเมตร ก็สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจไปได้ครึ่งหนึ่งของคนที่เท่าแต่อยู่นิ่งๆ นี่เป็นข่าวดียิ่งเมื่อพิจารณาว่าการเจ็บป่วยบั่นทอนความสุขของเรามากเพียงใด
ผลการศึกษาวิจัยทั้งหมดนี้ทำให้เรามีข้อยืนยันที่เป็นวิทยาศาสตร์ต่อเรื่องเล่าจากปากคำของผู้ใช้จักรยานว่าพวกเขามีความสุขอย่างไรเมื่อได้ขี่จักรยาน
ลองขี่ดูเองสักเดือนสิครับ ผมขอท้าทาย
———————————————
กวิน ชุติมา
เรียบเรียงจาก The Science Behind Why Cycling Makes Us Happier (http://oopsmark.ca/science-behind-cycling-makes-us-happier/)