มีข่าวออกมาในเวลาใกล้เคียงกันว่า สองนครใหญ่ของยุโรปประกาศว่าจะเป็น “เมืองปลอดรถ” (car-free city) นครทั้งสองนี้คือ บรัสเซลล์ เมืองหลวงของประเทศเบลเยี่ยม และ ฮัมบูร์ก นครใหญ่อันดับสองของประเทศเยอรมนี ว่ากันตามจริงนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่และออกจะเป็นกระแสหรือแนวโน้มที่เกิดขึ้นและกำลังเติบโตแพร่ขยายออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป ที่เมืองจะสร้าง “เครือข่ายสีเขียว” หรือเครือข่ายของทางเดิน-ทางจักรยานที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง ซึ่งก็มีหลากหลายแบบ บ้างก็สร้างเชื่อม “พื้นที่สีเขียว” บ้างก็สร้างเป็นเส้นทางเชื่อมใจกลางเมืองออกไปยังถนนวงแหวนรอบเมืองและขยายออกไปถึงชานเมือง มีการสร้าง “ซูเปอร์ไฮเวย์จักรยาน” อย่างกรุงลอนดอนและกรุงโคเปนฮาเกน ซึ่งเมืองหลังนี้มีแผนจะสร้างถึง 26สาย (ลอนดอนมี 2 สาย) จากกลางเมืองออกไปทุกทิศทาง
นครฮัมบูร์ก | แผนที่พื้นที่สีเขียวของนครฮัมบูร์ก |
แผนของฮัมบูร์กซึ่งตั้งเป้าไว้อย่างท้าทายคือ จะขจัดความจำเป็นที่ต้องใช้รถยนต์ให้หมดไปใน 15-20 ปีโดย “เครือข่ายสีเขียว” ของฮัมบูร์กจะสร้างทางที่ปลอดรถยนต์เชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ของเมือง อันได้แก่สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น สวนของชุมชน และสุสานทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทำให้มีเส้นทางที่ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวสามารถเดินหรือขี่จักรยานไปมาได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน ครอบคลุมพื้นที่ราวร้อยละ 40 ของเมือง และยังสร้างสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ชาวเมืองจะเดินเที่ยว ปิ๊กนิ๊ก ว่ายน้ำ เล่นกีฬาทางน้ำ ทั้งยังสามารถชื่นชมธรรมชาติและสัตว์ป่าได้ในเมือง โดยไม่ต้องขับรถออกไปหาไปทำสิ่งเหล่านี้นอกเมือง ทำให้ฮัมบูร์กเป็นเมืองที่เขียวขึ้น ทั้งเมืองและคนที่อาศัยอยู่มีสุขภาวะมากขึ้น และเป็นเมืองน่าอยู่มากขึ้น ในเอเชียมีเมืองหนึ่งที่มีเครือข่ายทางเดินวิ่ง-ทางจักรยานเชื่อมโยงพื้นที่สีเขียวทั้งหมดเข้าด้วยกันในลักษณะคล้ายกันนี้เรียบร้อยแล้ว นั่นคือสิงคโปร์
ถนนกว้างใหญ่ในกรุงบรัสเซลล์ | จัตุรัส Place de Brouckere ในบรัสเซลล์ |
ทางด้านกรุงบรัสเซลล์นั้น แผนที่คิดไว้อาจไม่ทะเยอทะยานใหญ่โตเท่าฮัมบูร์ก โดยนายกเทศมนตรีคนใหม่จากพรรคสังคมนิยมที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว(2556) ประกาศว่าเขาจะเปลี่ยนถนนกว้างใหญ่ขนาดสี่ช่องทางที่ปัจจุบันแน่นขนัดไปด้วยรถยนต์และจัตุรัสต่างๆ บริเวณใจกลางเมืองให้เป็นถนนคนเดินที่เรียงรายสองข้างทางด้วยร้านกาแฟ และเชื่อมโยงเข้ากับถนนคนเดินแคบๆ ที่มีอยู่แล้วรอบๆ พระบรมมหาราชวังและถนน Rue Neuve ทำให้ย่านกลางเมืองของบรัสเซลล์กลายเป็น “ห้องนั่งเล่นกลางแจ้ง” ที่กว้างขวาง เดินเล่นกันได้สบายๆ การสำรวจความเห็นชาวเมือง 3,500 คนของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่งพบว่า ร้อยละ 61 เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนี้
ถ้าบรัสเซลล์เปลี่ยนไปจริงๆ ก็จะเป็นเรื่องน่าทึ่ง เพราะรถยนต์ทำให้เมืองนี้ย่อยยับมากกว่าเมืองหลวงใดๆ ในยุโรป จนชาวฝรั่งเศสเอาไปเรียกล้อเลียนอย่างเจ็บแสบว่า บรัสเซลล์เป็น “ท่อระบายน้ำโสโครกของรถยนต์” สภาพเช่นนี้เกิดจากการวางผังเมืองที่ผิดพลาดเมื่อห้าสิบปีก่อนด้วยการรื้ออาคารเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ลงเป็นย่านๆ แล้วสร้างตึกสมัยใหม่ที่ใหญ่โตเกินขนาดไร้รสนิยมดูน่าเกลียดขึ้นมาแทน พร้อมกับให้ความสำคัญกับรถยนต์เป็นลำดับแรกเหนือวิธีการเดินทางอื่นทั้งหมด เปลี่ยนถนนที่โอ่อ่ากว้างขวางเป็นซูเปอร์ไฮเวย์กลางเมือง (ถนนกว้างใหญ่สายหนึ่งที่จะทำให้เป็นถนนคนเดินนั้นความจริงเกิดจากการถมแม่น้ำ Senne และรื้อตึกเก่าแก่สองฝั่งมาเป็นทำเป็นถนน) จนเกิดเป็นคำใหม่ขึ้นมาอธิบายการทำเช่นนี้ว่า Brusselization ซึ่งตรงข้ามกับ Amsterdamization และ Copenhagenization ที่ใช้กับการทำให้เมืองเอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยานเป็นลำดับแรก
สำหรับกรุงเทพมหานครนั้นก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางนี้เช่นกัน เหลือแต่ว่าผู้บริหาร กทม. จะเห็นและตัดสินใจ Amsterdamize หรือ Copenhagenize กรุงเทพฯ เมื่อใด หรือจะทำ Brusselize ที่ผิดพลาดต่อไป สิ้นเปลืองงบประมาณกับการก่อสร้างเพื่ออำนวยความสะดวกให้รถยนต์ ซึ่งในวันข้างหน้าไม่ช้าก็เร็ว ก็จะต้องรื้อทิ้งหรือเปลี่ยนกลับมาให้คนใช้เดินทางโดยไม่ใช้รถยนต์ในที่สุด
กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย