“อากาศสะอาด เมื่อประกาศปิดเมือง” Shutdown BKK and air quality improvement
บทความด้านล่างนี้ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 (หน้า 11 คอลัมน์คิดเพื่อประเทศไทย) |
บอกก่อนเลย เพื่อจะได้ไม่เข้าใจผิดว่าเรื่องนี้มีเรื่องการเมืองหรือสีเสื้อ มาเกี่ยวข้อง เพราะจะพูดเรื่องวิชาการล้วนๆ และเป็นวิชาการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมีตัวเลขที่ไม่ต้องถกเถียงโต้แย้งกันให้มีปัญหาอื่นตามมา และทางสังคมซึ่งเป็นผลที่ตามมาจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์นั้นๆ
ในช่วงที่มีการประกาศปิดเมือง หรือปิดกรุงเทพฯนั้น ผมถือโอกาสไปไหนมาไหนด้วยจักรยานหลายครั้ง เพราะรถน้อย ถนนค่อนข้างโล่ง จึงขี่จักรยานได้สะดวกและปลอดภัยสูง รวมทั้งรู้สึกได้ว่าอากาศในกรุงเทพฯสะอาดกว่าทุกวัน แต่ก็เป็นแค่ความรู้สึก คิดอยู่ในใจว่าน่าจะมีการเก็บข้อมูลอากาศแบบเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อจะได้รู้ว่าอากาศสะอาดช่วงรถน้อยนี้มันเท็จจริงเป็นอย่างไร โชคดีไปได้ข้อมูลทางวิชาการมาจากหน่วยงานของรัฐที่ชื่อ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ซึ่งได้เก็บตัวอย่างอากาศในช่วงวันที่ 7 – 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงปิดเมือง (ดู รายงานของคพ.)
ผลจากการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ พบว่า ในช่วง 7-8 วันนี้ ฝุ่นละอองขนาดเล็กซึ่งเป็นฝุ่นจากไอเสียรถยนต์และรถเมล์ ใน 4 พื้นที่ คือ สน.โชคชัย ลาดพร้าว, รพ.จุฬา ปทุมวัน, มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม จตุจักร และ รร.นนทรีวิทยา ยานนาวา มีความเข้มข้นหรือปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดูกราฟในรายงานของคพ.
สิ่งนี้บอกอะไรแก่เรา มันบอกอย่างชัดเจนว่า ถ้าเราทำให้จำนวนรถยนต์บนถนนน้อยลง อากาศจะสะอาดขึ้น และเดินหรือขี่จักรยานได้ปลอดภัยและสะดวกขึ้น เมื่อเดินและขี่จักรยานได้สะดวกและปลอดภัยขึ้น คนก็จะมาใช้จักรยานไปไหนมาไหนในชีวิตประจำวันมากขึ้น และคนจะเห็นภาพความสะดวกของการเดินหรือใช้จักรยานมากขึ้น และหันมาเดินทางด้วยการเดินและใช้จักรยานมากขึ้น จำนวนรถยนต์จะน้อยลง อากาศสะอาดขึ้น เมืองน่าอยู่ขึ้น แล้วเรารออะไรอยู่ถึงไม่ทำให้จำนวนรถยนต์น้อยลง ภาคประชาชนหลายกลุ่มเห็นข้อดีของปรากฏการณ์นี้และกำลังทำเรื่องนี้อยู่อย่างเข้มแข็ง ส่วนภาครัฐก็ได้เริ่มมาบ้างแล้วแม้จะไม่เข้มแข็งเท่า และยังไม่ทันใจหลายคนที่อยากออกมาเดินหรือขี่จักรยานในชีวิตประจำวัน
แต่เมื่อเห็นข้อมูลที่เถียงไม่ได้แบบนี้ ภาครัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด ถ้าอยากให้บ้านเมืองเราน่าอยู่ ก็น่าจะหันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างจริงจัง และจัดสรรงบประมาณมาทำอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป หวังอย่างยิ่งว่าวันนั้นจะมาถึงในเวลาอันไม่ไกลจนเกินไปนัก
ธงชัย พรรณสวัสดิ์