ไม่ว่าจะที่ไหนในโลก ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ชาวเมืองทั่วไปตัดสินใจว่าไปไหนมาไหนด้วยการเดินหรือการใช้จักรยานหรือไม่คือ ความปลอดภัย ดังนั้นถ้าเราจะส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันก็ต้องเพิ่มความปลอดภัย หรือลดความเสี่ยงต่ออันตราย ให้ประชาชนทั่วไปให้มากที่สุด และต้นเหตุของอันตรายที่ทุกคนคิดถึงในทันทีคือ การถูกรถยนต์ชน ดังนั้นการเพิ่มความปลอดภัยที่ต้องทำคือการป้องกันมิให้รถชนคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน
ในยุโรป พบว่ายานยนต์ที่ชนคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยานมากที่สุด ทำให้พวกเขาเสียชีวิตมากที่สุด คือรถขนาดใหญ่ทุกประเภท ทั้งรถบรรทุกและรถเมล์-รถประจำทาง เนื่องจากที่ผ่านมารถขนาดใหญ่มีจุดบอดที่คนขับมองไม่เห็นทางด้านข้างทั้งสองข้างและด้านหน้าในส่วนที่ประชิดกับรถ มาตรการหนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปคือการออกกฎหมายบังคับให้ออกแบบรถขนาดใหญ่ให้คนขับสามารถมองเห็นด้านหน้าและด้านข้างในส่วนที่ประชิดกับรถได้ดีขึ้น และป้องกันมิให้คนเดินเท้าหรือผู้ใช้จักรยานที่ถูกชนล้มเข้าไปด้านใต้รถและถูกล้อรถทับ
ในกรุงลอนดอนกำลังมีการทดลองมาตรการอีกอย่างหนึ่งที่จะเพิ่มความปลอดภัยของคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยานคือ การนำเครื่องจับภาพและเรดาร์แบบที่ใช้ตรวจหาวัตถุในท้องฟ้ามาติดตั้งกับรถประจำทาง อุปกรณ์นี้จะเตือนคนขับรถประจำทางให้ทราบทันทีที่มีคนเดินเท้าและคนขี่จักรยานอยู่ใกล้กับรถของตน การทดลองเบื้องต้นซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว(2013) บ่งบอกว่า เทคโนโลยีทันสมัยนี้ให้ผลดีทีเดียว แต่เพื่อความแน่นอนก็จะมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีก และถ้าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจก็จะติดตั้งกับรถประจำทางทั้ง 8,700 คันในนครหลวงของอังกฤษแห่งนี้
การลงทุนนำเทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งก็คงไม่ใช่ราคาถูกๆ นี้มาใช้เกิดขึ้นจากการที่การขนส่งลอนดอน (Transport for London – TfL) ตั้งเป้าและให้คำมั่นกับชาวลอนดอนว่าจะลดจำนวนคนที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสบนถนนในลอนดอนลงร้อยละ 40 ในปี 2020 และที่ได้รับความสำคัญเป็นลำดับแรกคือคนเดินเท้า ผู้ใช้จักรยาน และผู้ขี่จักรยานยนต์ จนมีการทำออกมาเป็นแผนปฏิบัติการความปลอดภัยคนเดินเท้า (Pedestrian Safety Action Plan) ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2010
อีกมาตรการหนึ่งคือการนำฐานข้อมูลการจำกัดความเร็วใส่เข้าไปในระบบนำทางด้วยดาวเทียม ซึ่งจะแจ้งคนขับรถว่ากำลังเข้าเขตจำกัดความเร็ว 20 ไมล์หรือ 32 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้วเพื่อเตือนให้คนขับลดความเร็วรถลง ด้วยความเร็วนี้โอกาสเกิดการชนจะน้อย และหากชน โอกาสการสูญเสียชีวิตของคนเดินเท้าหรือผู้ใช้จักรยานจะลดลงถึงร้อยละ 95
ในประเทศที่ใส่ใจอย่างจริงจังกับชีวิตของคนส่วนใหญ่คือคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน ทั้งที่การเกิดเหตุอันตรายมีไม่มาก ก็ยังมีการศึกษามาตรการความปลอดภัยใหม่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ และถ้าได้ผลก็จะลงทุนนำมาใช้อย่างกว้างขวาง แม้อาจจะมีราคาสูง แต่ก็ไม่มีอะไรจะมีค่าไปกว่าชีวิตของประชาชนมิใช่หรือครับ และหากคนเมืองเดินทางด้วยการเดินและใช้จักรยานมากขึ้น ในระยะยาวก็จะลดค่าใช้จ่ายหลายด้าน เป็นการประหยัดด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านการดูแลสุขภาพรักษาพยาบาล การใช้เชื้อเพลิง-พลังงาน การสูญเสียจากการจราจรติดขัดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ก็อดมีคำถามไม่ได้ว่า ในประเทศไทยที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ในแต่ละปีมีความสูญเสียมหาศาลต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ผู้บริหารกรุงเทพฯ และประเทศไทย จะคิดจะทำอะไรบ้างเพื่อเพิ่มความปลอดภัย โดยเฉพาะให้คนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน?
กวิน ชุติมา กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย