I’m No. 1 >> คริส แม็คคอร์แม็ค
“ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ ถ้าตัวคุณไม่ละทิ้งความพยายาม…”
ประโยคง่ายๆ แต่เต็มไปด้วยความรู้สึก จากผู้ชายที่ได้ชื่อว่า “ฟิต” ที่สุดในโลก
- เขามี “ค่าเฉลี่ยชัยชนะ” อยู่ราว 76 เปอร์เซ็นต์ ในชีวิตนักกีฬาอาชีพ
- จบการแข่งขันบนแท่นรับรางวัล 88 เปอร์เซ็นต์
- ชนะกว่า 200 รายการตั้งแต่ปี ค.ศ.1993
- เป็นนักไตรกีฬาคนเดียวที่เคยได้แชมป์ทั้ง โอลิมปิก คอร์ส และ ไอรอนแมน เวิล์ด แชมเปี้ยน
- สามารถพิชิต 12 การแข่งขันไอรอนแมน (มากกว่านักกีฬาชายคนไหนๆ เคยทำได้)
- ได้รับเลือกให้เป็น นักกีฬาไตรกรีฬายอดเยี่ยมแห่งปี (International Triathlete of the Year) ถึง 5 ครั้ง และ
- รางวัลผู้เข้าแข่งขันยอดเยี่ยมแห่งปี (Competitor of the Year) 4 ครั้ง ได้รับตำแหน่ง ชายผู้ฟิตที่สุดในโลก จากการจัดอันดับโดย ESPN
ทั้งหมดเป็นสรรพคุณของ คริส แม็คคอร์แม็ค (Chris McCormack) เจ้าของฉายา “แม็คก้า” (Macca) แชมป์โลกไตรกีฬา 4 สมัยซ้อน ที่ล่าสุด เพิ่งเข้ามานั่งเก้าอี้บริหารในตำแหน่ง Executive Chairman ของ Thanyapura Sports & Leisure Club ภูเก็ต เมื่อไม่นานมานี้
“ไตรกีฬาสำหรับผมมันคือชีวิต” เขาให้นิยามง่ายๆ
ถึงจะเป็นความใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก แต่เพราะครอบครัวอยากให้เขาใช้ชีวิตแบบคนปกติทั่วไป เรียนจบสูงๆ หางานดีๆ ทำ หลังจากทำตามความต้องการของพ่อแม่ด้วยการเข้าทำงานบริษัทได้สักระยะ ด้วยการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ และเป็นสิ่งที่อยู่ภายในใจเขาตลอดมา คริสตัดสินใจหันหลังให้ออฟฟิศ วิ่งสู่สนามแข่ง เป็นนักกีฬาอาชีพได้อย่างที่ฝันไว้
เส้นทางความสำเร็จที่แชมป์โลกชาวออสซี่คนนี้ก้าวผ่านมา เริ่มต้นด้วยการทลายกำแพง “ความเป็นไปไม่ได้” ภายใน 5 ปีที่เข้าพิสูจน์ความเป็น “ยอดมนุษย์” ผ่านการว่ายน้ำ 3.8 กิโลเมตร ปั่นจักรยาน 180 กิโลเมตร และวิ่ง 42 กิโลเมตร (ไตรกีฬาระยะไกล : IRONMAN หรือ LONG DISTANCE)
เรามักได้ยินคำพูดที่ว่า สิ่งที่ยากกว่าการเป็นแชมป์ก็คือการรักษาแชมป์ “ความกระหายในการเล่นกีฬา” ที่ยังเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ จึงถือเป็นความยิ่งใหญ่สำหรับตัวเขาอย่างแท้จริง เส้นทาง และความฝัน ของ No.1 “แม็คก้า” จะเริ่มเล่าให้ฟังจากบรรทัดนี้
มีกี่เหตุผลที่ทำให้คนเราเริ่มเล่นไตรกีฬา
ส่วนใหญ่นักไตรกีฬาก็จะเริ่มจาก Cross Training (กีฬาแบบผสมผสาน) ถ้าไม่เริ่มจาก ว่ายน้ำ ก็เริ่มจากวิ่ง หรือไม่ก็ปั่น จักรยาน แล้วค่อยมาเพิ่มเติมขึ้นจากตรงนั้น ขณะเดียวกัน ก็จะเริ่มมีเพื่อน มีเครือข่าย ก็จะมีการแบ่งปันข้อมูลกันระหว่างกลุ่ม จนแตกแขนงเป็นกีฬาอีกประเภทออกมา
สำหรับคุณ ไตรกีฬามีความหมาย หรือนิยามอย่างไร
มันคือชีวิตของผม… (นิ่ง คิด) ใช่ มันเป็นกีฬาที่ผมติดตามมาตั้งแต่เด็ก แต่ที่บ้านไม่ค่อยให้การสนับสนุนเท่าไหร่ เพราะมีความคิดอยากให้ลูกเรียนหนังสือสูงๆ เพื่อจะได้เข้ามาทำงานในบริษัท ซึ่งความจริงผมไม่ชอบเลย แต่ผมก็ทำตามที่พ่อแม่ขอร้อง คือ เข้าเรียนจนจบมหาวิทยาลัย ระหว่างนี้ผมก็ฝึกซ้อมกีฬาตามความตั้งใจ เพราะผมคิดว่า ตัวเองก็สามารถทำได้ โดยพยายามผลักดันตัวเองเรื่อยมา
โอเค ผมว่ายน้ำไม่ค่อยดีนัก แต่ผมก็จะพยายามทำให้มันได้ จนในที่สุดผมก็ลาออกจากการทำงานมาเล่นกีฬาอย่างจริงจัง เมื่อผมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน ได้ฟังเรื่องราวจากผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ ก็พบว่า เราไม่ได้แปลกกว่าคนอื่นๆ เลยนะ มีคนคิดแบบเดียวกันกับผม แล้วยังเข้ามาแข่งขันได้ด้วย (ยิ้ม)
คุณเล่นกีฬาอะไรมาก่อนบ้าง
ผมเล่น เซิร์ฟ ฟุตบอล เข้าฟิตเนส วิ่งกับพ่อบ้าง เพราะพ่อผมเลิกสูบบุหรี่ก็เลยชวนกันไปวิ่งออกกำลังกาย จริงๆ จะบอกว่าผมเริ่มเล่นไตรกีฬาจากการวิ่งก็ได้นะ (ยิ้ม)
เท่าที่ฟังมาคุณก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรค และแรงกดดันมาอยู่พอสมควรเลยนะ ?
(ยิ้ม) ผมเชื่อว่าตัวเองต้องทำได้ และเป็นความเชื่อที่มั่นคงเสมอมา อย่างเดียวที่(ตอนนั้น)ผมทำไม่ได้ คือ การเป็นแชมป์ Ironman ซึ่งผมชนะทุกอย่างมาแล้ว แต่รายการนี้ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าผมทำไม่ได้หรอก เพราะผมตัวใหญ่ไป (ยิ้ม) นักวิทยาศาสตร์ก็บอกไม่ได้ โค้ชก็บอกไม่ได้ แต่มีคนเดียวในโลกที่เชื่อว่าทำได้ก็คือผมเอง
ผมใช้เวลาพิสูจน์ความเชื่อนี้อยู่ 5 ปี จนในที่สุดผมก็สามารถคว้าแชมป์รายการนี้ได้ และชนะต่อมาเรื่อยๆ เรื่องนี้มันเลยกลายเป็นความเชื่อของผมที่ว่า ถ้าคุณมัวแต่มารอให้ใครต่อใครมาบอกว่าทำได้ หรือไม่ได้ คุณจะไม่มีทางประสบความสำเร็จ ความสำเร็จของผมก็มาจากความเชื่อมั่นในตัวเอง
เป็นที่รู้กันว่า ไตรกีฬาเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความมีวินัยค่อนข้างสูงมากในการฝึกซ้อม ในการแข่งขันอาชีพคุณจัดตารางซ้อมอย่างไร
ติดต่อธัญญปุระสิครับ (หัวเราะ) ผมซ้อม 7 วันต่อสัปดาห์ ว่ายน้ำ 30 กิโลเมตร ขี่จักรยาน 700 กิโลเมตร และวิ่งอีก 100 กิโลเมตร ทุกอาทิตย์ ปริมาณนี้สำหรับนักกีฬาอาชีพถือว่าเป็นเรื่องปกตินะ ใครๆ ก็ทำกัน บางทีผมก็บินไปยุโรป ไปขี่จักรยานบนภูเขา หรือไม่ก็ไปเก็บตัวตามที่ต่างๆ
การเข้าแข่งขันแต่ละครั้งคุณมีการวางแผนไหม
การวางแผนถือเป็นเรื่องสำคัญในการแข่งขัน เพราะในวงการผมมักจะได้ฉายาจากเพื่อนๆ นักกีฬาว่า เป็น “นักคิด” อันที่จริง สิ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือ มีนักกีฬามากมายที่มีความสมบูรณ์ทางร่างกายดีกว่าผมเยอะ แต่พวกเขามักไม่ได้คิดถึงกลยุทธ์ในการแข่งขัน แต่ผมคิด ตรงนี้ทำให้ผมมีความแตกต่างจากพวกเขา (ยิ้ม)
และหลายครั้งที่ผมใช้กลยุทธ์เหล่านั้นในการแข่งด้วย (หัวเราะ) อย่างการแข่งขันที่ฮาวายปี 2010 ครั้งนั้น แอนเดรียส แรเลิร์ต (Andreas Raelert) ที่เคยทำลายสถิติโลกมาแล้วลงแข่งด้วย แล้วผมก็ตั้งใจว่าจะกลับไปแข่งขันรายการนี้อีกครั้ง คนรอบข้างก็มีแต่คนบอกว่า ไม่มีทาง เขาหนุ่มกว่าผม เขาเร็วกว่าผม แล้วคุณจะเอาอะไรไปสู้กับเขา ไม่ แต่ผมเชื่อว่าตัวผมทำได้ เหมือนอย่างในหนังสืออัตชีวประวัติของผม (I’m Here to Win) ผมเขียนเอาไว้เลยว่าผมจะชนะในการแข่งขันครั้งนี้
ทำให้เห็นว่าพวกเขามองคุณผิดไป ?
ใช่… ทุกคนก็พูดถูกนะ เจ้าของสถิติโลก หนุ่มกว่า ฟิตกว่า ว่ายน้ำเก่งกว่าผม ขี่จักรยานเร็วกว่าผม วิ่งเร็วกว่าด้วย (ยิ้ม) แต่ข้อได้เปรียบของผมก็คือ เขา(Andreas)มองผมเป็นแบบอย่าง ดังนั้นผมก็เป็นแบบอย่าง นี่เป็นที่ของผม เพราะฉะนั้นการที่เราเชื่อมั่นในเรื่องนี้ กับการทำงานตรงนี้ มันฝึกกันได้ เขาก็แพ้ไปอยู่ดี
ถ้าอย่างนั้นกลยุทธ์ที่ว่าของคุณคืออะไร
ที่ฮาวาย การแข่งขันวิ่งในช่วงสุดท้าย เกมนี้ก็เป็นการวางกลยุทธ์ระหว่างการแข่งขัน การที่วิ่งคู่กันมา จะสังเกตได้ว่า ผมจะพยายามวิ่งนำหน้า 1 ก้าวตลอด เพราะมันจะทำให้คู่แข่งของผมรู้สึกว่า เอ๊ะ เราวิ่งไม่ทันเขาเหรอ ใช่ คุณไม่มีทางวิ่งทันผมหรอก ทั้งหมดทั้งปวงในตอนนั้น ถึงแม้ว่าร่างกายจะฟิต ร่างกายยังเคลื่อนไหวอยู่ ความพร้อมยังมีอยู่ แต่สมองตอนนั้นจะอ่อนล้าไป ผมก็ต้องการที่จะทำให้มั่นใจโดยการแสดงออกบางอย่างที่ทำให้เห็นว่า ยังไงผมก็ยังเหนือกว่าคุณ ด้วยการยกน้ำ (ฟองน้ำ) ให้เขา ทำให้เหมือนกับว่า คุณก็ยังด้อยกว่าผม และด้วยภาพของผมในหัวเขาที่เห็นผมชนะมาตลอด ผมเป็นไอดอลของเขา สิ่งเหล่านี้ก็จะฝั่งหัวเขาอยู่ตลอดว่า ที่สุดแล้วผมก็จะเป็นผู้ชนะ
ฟังดูคล้ายๆ กำลังกำกับภาพยนตร์ในหัวคู่แข่งเลยนะ ?
ใช่ๆ (หัวเราะ) สำหรับนักกีฬาส่วนใหญ่ ทัศนคติสำคัญมาก กีฬาอีกชนิดที่ทำให้เราเห็นชัดเจนก็คือ เทนนิส คุณอาจจะไม่ต้องเก่งมากก็ได้ เพียงแต่คุณทำให้คู่ต่อสู้ของคุณเล่นผิดพลาดเท่านั้น ถึงเขาจะรับลูกคุณได้ แต่ถ้าลูกที่โต้กลับมาติดเน็ต คุณก็ได้คะแนน ดังนั้นคุณก็ไม่จำเป็นต้องยิงลูกฆ่าเขาตลอด ไตรกีฬาก็เหมือนกัน คุณไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุดหรอก ผมอายุมากกว่าคู่แข่งผม 8 ปี แถมวิ่งช้ากว่าด้วย (ยิ้ม) เพียงแต่เขามองผมเป็นต้นแบบ มันก็เป็นเหมือนกำแพงในจิตใจรบกวนอยู่ ตรงนี้มันค่อนข้างชัดเจนว่า ผมฝีมืออาจจะต่ำกว่า แต่เรื่องสภาพจิตใจผมเหนือกว่า ถึงจะเก่งแค่ไหน ถ้าใจไม่สู้ซะอย่างร่างกายก็ไปไม่ได้
นี่มันเป็นการข่มคู่ต่อสู้ชัดๆ ?
ใช่ๆ (หัวเราะ) หรืออย่างมุขการจับมือก็เหมือนกัน (ยิ้ม) ถึงคุณจะบอกว่าผมเป็นพวกชอบข่มคู่ต่อสู้ ซึ่งนักกีฬาหลายๆ คนก็เป็นนะ แต่สำหรับผม ผมถือว่าตัวเองพูดตรง แล้วก็จริง ไม่ได้โอ่ เพราะผมคิดว่ามันถูก ผมเป็นอย่างนี้ ผมคิดว่าคุณเป็นคนอย่างนี้ผมก็จะบอกออกไปตรงๆ
ที่คุณบอกว่า เรื่องพลังของความเชื่อมั่น ที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการแข่งขันนั้น ในทางกลับกัน “ความเชื่อมั่น” นี้ ได้กลายไปเป็นความกดดันให้กับคุณเองหรือไม่
แรงกดดันเป็นอะไรที่ทุกคนต้องพบเจอเสมอในชีวิตโดยเฉพาะในโลกของการแข่งขันกีฬา และคุณจะเริ่มเข้าใจถึง แรงกดดันในชีวิตจริงได้ ว่านั่นเป็นเพียงประสบการณ์หนึ่งของชีวิตก็ต่อเมื่อคุณได้รวมเอาข้อจำกัดทางกายภาพ ของตัวเองเข้ากับมิติทางด้านจิตใจ การจะรับมือกับแรงกดดันได้อย่างดีนั้น เราจะต้องเข้าใจและยอมรับในจุดแข็งและ จุดอ่อนของเราทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจและต้องเชื่อมั่นว่าแม้จะมีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างนี้ เราก็ยังสามารถที่จะเอาชนะ การแข่งขันได้ กุญแจสำคัญก็คือ เราต้องยอมรับในตัวเองให้ได้อย่างแท้จริง ผมไม่เคยรู้สึกว่าแรงกดดันนั้นเป็นการกดดัน ตัวผมอยู่ ผมมองเหมือนมันเป็นการต่อตัวไปเรื่อยๆให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีแรงกดดัน เราต้องรู้สึกขอบคุณเพราะนั่นเป็นบทเรียนที่จะทำให้เราแกร่งขึ้น
ผมไม่เคยรู้สึกกังวลเมื่อต้องพูดถึงความตั้งใจหรือเป้าหมายของตัวเอง ผมสามารถพูดออกมาได้อย่างสบายใจ และไม่รู้สึกกดดันอะไรเพราะผมได้เตรียมพร้อมและทำความเข้าใจในตัวเองดีอยู่แล้ว ผมบอกตามตรงว่าผมไม่เคย ปล่อยให้สถานการณ์ความกดดันมีผลต่อการแข่งขันของผม ที่จริงผมสนุกกับมันมากกว่า แล้วพอไม่มีการแข่งขัน ผมจะรู้สึกคิดถึงสถานการณ์กดดันนั้นด้วยซ้ำ ผมได้พบว่า เมื่อเข้ามาอยู่ในโลกธุรกิจมีการพูดถึงนักกีฬาที่โดนแรงกดดัน มากมาย แต่คุณต้องยอมรับว่ากีฬาคือการเผชิญกับสถาณการณ์ของจริง คุณไม่สามารถหนีหรือซ่อนอารมณ์ความรู้สึกได้! เหล่านี้เป็นบทเรียนชีวิตที่คุณจะได้จากกีฬา
ถ้าอย่างนั้นแล้ว อะไรที่ทำให้คุณกดดันบ้างในการแข่งขัน และรับมือกับความกดดันเหล่านั้นอย่างไร
แรงกดดันของผมก่อนที่จะลงสนามแข่งขันจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างความมั่นใจในการเตรียมความพร้อม และความชัดเจนในความคิดของผม ผมไม่ปฏิเสธว่าก่อนการแข่งขัน คุณจะรู้สึกมีความกังวล เพราะเรากำลังจะไปอยู่ในเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมตัวแปรต่างๆ ได้ เรากำลังแข่งขันกับคนอื่น และความไม่สามารถคาดเดาได้นี้เองที่สร้างความกังวลใจขึ้นกับเรา คุณไม่สามารถควบคุมสิ่งที่คนอื่นสามารถทำได้ ดังนั้น คุณจึงตั้งคำถามว่าผลที่ออกมามันจะเป็นอย่างที่เราต้องการให้เป็นหรือเปล่า ผมค้นพบเสมอเลยว่าถ้าเราโฟกัสอยู่กับสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้เราจะสามารถควบคุมความวิตกกังวลได้ ซึ่งผมทำได้และบทพิสูจน์ก็คือในกีฬาที่ผมเล่นอยู่ ยังไม่มีใครสามารถคว้าชัยชนะได้มากเท่ากับที่ผมได้ทำไป นี่เป็นจุดแข็งที่สุดของผม
ระหว่างการแข่งขันแต่ละครั้ง คุณโฟกัสที่อะไรบ้าง
ก่อนการแข่งขัน ผมจะโฟกัสอยู่กับสิ่งที่ผมสามารถควบคุมได้ ซึ่งก็คือแนวทางการฝึกซ้อม การฟื้นฟูสภาพร่างกาย และความรู้สึก สุขภาพและโภชนาการ พยายามที่จะเคลียร์สมองให้โล่งเพื่อรอรับความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้น และพยายามควบคุมความกังวลให้ได้
ช่วยเล่าการแข่งขันที่อยู่ในความทรงจำให้ฟังหน่อย
การแข่งขันที่ผมพอใจมากที่สุดคือตอนที่ลงแข่งแชมป์โลกครั้งที่ 3 ของผมที่ฮาวายในปี 2010 นั่นแหละครับ ซึ่งปีก่อนหน้านั้น ผมทิ้งวงการกีฬาไปช่วงหนึ่งเพราะต้องทุ่มเวลาให้กับครอบครัว ช่วงที่หายไปหนึ่งปีหลังจากที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดของ ความสำเร็จในกีฬาที่ผมเล่นมานานนับทศวรรษ ผู้คนเริ่มที่จะพูดกันว่าชีวิตนักกีฬาของผมจบสิ้นแล้ว และมีนักกีฬาคนอื่นๆ ที่อ่อนเยาว์กว่า เร็วกว่า และแข็งแรงกว่าผม เมื่อผมให้สัมภาษณ์ไปในทางที่ตรงข้าม ผมรู้สึกว่าคนในวงการกีฬา ไม่เชื่อผม บอกว่าผมอายุเยอะแล้ว และชีวิตนักกีฬาของผมจบลงแล้ว
ผมลงทะเบียนแข่งขันในฤดูกาลนั้นและประกาศต่อสื่อเจ็ดเดือนก่อนหน้าที่จะมีการแข่งขันว่า ผมจะชนะ พวกสื่อมวลชนและพวกนักกีฬาต่างก็หัวเราะเยาะผม และเขียนบทความรวมถึงหนังสือหาว่าผมต้องบ้าไปแล้ว ตอนที่ลงแข่ง ผมไม่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับแม้แต่ตัวเก็ง (potential favorite) ถึงผมจะมีประวัติ และสถิติดีกว่านักกีฬาทุกคนก็ตาม แต่แล้วผมก็สามารถชิงแชมป์โลกได้อีกครั้งในปีนั้นคือ 2010 ผมทำได้อย่างที่พูดว่าผมจะเอาชนะในการปั่นจักรยาน และวิ่งมาราธอนที่สามารถทำเวลาได้ดีที่สุด ผมสามารถเอาชนะคนที่ทำสถิติโลกและแชมป์โลกรุ่นหลังๆ ได้ อีกทั้งผมทำได้ในสนามระดับโลกอีกด้วย ซึ่งในปี 2012 ผมก็ได้เป็นแชมป์โลกอีกครั้ง
กีฬา 3 ประเภทนี้ อะไรที่คุณอ่อนที่สุด
ว่ายน้ำ ครับ
แก้ไขจุดบกพร่องตรงนี้อย่างไร
ผมพยายามทำงานกับมันให้หนักขึ้น ไม่อย่างนั้น ถ้าลองเราละเลยมันไป ก็ยิ่งทำให้ทักษะส่วนนี้ไม่ถูกพัฒนา ถึงจะเป็นอะไรที่ทำให้ผมปวดหัวมากก็ตาม แต่ผมก็ต้องซ้อมนะ (หัวเราะ)
เรามักได้ยินคำว่า นักกีฬาที่ดี กับนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จนั้นต่างกัน สำหรับคุณแล้วนักกีฬาทั้ง 2 ประเภทนี้ต่างกันจริงหรือเปล่า
คนทั่วไปจะเชื่อว่า ต้องเห็นก่อนถึงจะเชื่อ แต่สำหรับนักกีฬาที่จะประสบความสำเร็จต้องเชื่อก่อนถึงจะได้เห็น นั่นคือความต่างของนักกีฬาที่ดีกับนักกีฬาที่จะประสบความสำเร็จ
ความภูมิใจของคุณในฐานะนักกีฬาไตรกีฬาคืออะไร
ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้ผมภูมิใจมากที่สุดของการเป็นนักไตรกีฬาก็คือคุณสมบัติของการเป็นนักไตรกีฬาที่ดี มันเป็นกีฬาที่ต้องมีวินัย ต้องฝึกฝน เดินทางและต้องทุ่มเทอย่างแท้จริง ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ เราไม่สามารถเรียนได้ แต่คุณต้องมุ่งมั่น และการเล่นไตรกีฬาทำให้คุณสมบัติเหล่านี้เข้มข้นและพัฒนาขึ้น ซึ่งมันทำให้ผมภูมิใจ ผมได้อะไรมากมายจากกีฬานี้
ถ้าอย่างนั้น ไตรกีฬาสอนอะไรคุณบ้าง
นั่นคือสิ่งดีๆ ที่จะเข้ามาหาคนที่ทำให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับตัวเขา ที่ผมหมายถึงก็คือ ด้วยความขยันและมุ่งมั่นทุ่มเท คุณจะสามารถประสบความสำเร็จได้และคุณจะต้องมั่นใจที่จะเชื่อในความฝันและแนวทางของคุณ ผมคิดว่า ไตรกีฬาได้แสดงให้ผมเห็นว่า เราต้องรู้จักรสชาติของความล้มเหลวก่อนถึงจะรู้ว่าชัยชนะ และความสำเร็จนั้นได้มาด้วยความพากเพียรเพียงใด
ความล้มเหลวให้อะไรกับคุณมากกว่าความสำเร็จ ซึ่งหลักการนี้ไม่เป็นที่ยอมรับสักเท่าไหร่ในโลกธุรกิจ คนมักจะกลัวที่จะลองสิ่งใหม่ๆ เพราะกลัวความล้มเหลว แต่สำหรับผม หากมีโอกาส ผมก็จะลอง ผมอยากจะลองแล้วล้มเหลว ดีกว่าที่จะไม่ยอมลองทำอะไรเลย ไตรกีฬาทำให้ผมคิดอย่างนี้ และผมก็คงจะคิดอย่างนี้ไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นจงไล่ตามความฝันของคุณ
มีคำแนะนำสำหรับคนที่จะเริ่มเล่นไตรกีฬาไหม
ทำเลยครับ (ตอบทันที) จริงๆ ถ้าจะให้ผมพูดอะไรเพื่อที่จะให้คุณหันมาเล่นไตรกีฬามันคงไม่เท่ากับการที่คุณลุกขึ้นมาลงมือทำมันเองหรอก แต่ผมพูดได้ว่า ไม่มีใครเคยผิดหวังในการตัดสินใจที่จะเริ่มเล่นไตรกีฬา มันเป็นอะไรที่น่าชื่นชมนะ ผมว่า ไม่ต้องรอให้ใครมาบอกหรอก ทำเลย เล่นเลย เพราะเรื่องทำนองนี้มันต้องมาจากแรงขับภายในเท่านั้น ไม่มีข้ออ้างแล้วต่อไปนี้ (หัวเราะ) ลุกออกจากเก้าอีก เตียงนอน โซฟาแสนสบาย ออกมาเจอกัน คุยกัน ออกไปเดิน ออกไปวิ่ง ออกไปว่าย เดี๋ยวมันก็ไปของมันเอง (ยิ้ม)
เป็นแชมป์มาก็หลายสนาม… หลายสมัยด้วย คุณรักษาความกระหายในการแข่งขันเอาไว้ได้อย่างไร
ตอนเด็กๆ ผมก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่อยากจะเอาชนะทุกคน อยากจะเป็นที่ 1 แต่พอเอาชนะแล้ว เมื่อโตขึ้น ผมค้นพบว่าความรู้สึกในการแข่งขันมันเปลี่ยนไป ผมมีความสุขกับการแข่งขัน มองคู่แข่งด้วยความเคารพมากขึ้น (ยิ้ม) และเมื่อเราเริ่มมองเห็นว่าใครเป็นใครในวงการนี้ ผมก็ไม่ต้องฝืนดื้อรั้นที่จะเอาชนะ ก็มีความสุขกับการแข่งขันไปเรื่อยๆ แล้วผมก็ได้เห็นเด็กๆ ที่มีตัวผมเป็นแบบอย่างเริ่มชนะขึ้นมาบ้าง ตรงนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้ผมเริ่มรู้ตัวว่า เออ เราโตแล้วนะ เราเริ่มแก่แล้ว มีคนรุ่นใหม่ๆ ตามเรามาแล้ว มันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปแข่งขันกันตลอดเวลา
ปีที่แล้วเป็นปีแรกที่ผมดีใจที่เห็นคนอื่นได้แชมป์ เพราะคนที่ได้แชมป์โลกเป็นเด็กที่ผมฝึกมาให้ตั้งแต่อายุ 13 ปี ตอนนี้ 2 คนนั้นอายุ 25 ปี แล้ว เมื่อเราเห็นคนที่เราฝึกฝนมาประสบความสำเร็จ ก็รู้สึกภาคภูมิใจ ความรู้สึกภาคภูมิใจ ความรู้สึกประทับใจเหล่านี้ทำให้ผมไม่ได้อยากจะเลิกแข่งขัน แต่มันเป็นความรู้สึกพอแล้ว เราไม่มีอะไรที่จะต้องพิสูจน์ตัวเองเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว ทั้งหมดที่ผ่านมามันเพียงพอแล้ว ผมมีความสุขที่จะเห็นคนรุ่นหลัง หรือคนอื่นๆ ขึ้นมาสานต่อวงการนี้ต่อไป แต่ผมก็ยังแข่งต่อได้นะ เพียงแต่ว่าไม่จำเป็นต้องลงไปบู๊ในสนามเหมือนเมื่อก่อน (ยิ้ม)
คิดจะแข่งถึงเมื่อไหร่
สปอนเซอร์ผมมีสัญญาเหลืออีก 4 ปี แต่ภรรยาผมบอกให้เวลาอีก 1 ปี (หัวเราะ) แต่ผมคิดว่าคงจะแข่งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีแรงนั่นแหละ เพียงแต่ว่า วันนี้ บทบาทหน้าที่ของตัวผมเองก็มีมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนเวลาเป็นนักกีฬาอย่างเดียว ฝึกซ้อม เตรียมตัว ลงแข่งขัน มันเป็นเรื่องง่ายมาก แต่วันนี้พอผมต้องมาทำงานบริหารด้วย บวกกับอีกหลายๆ อย่าง การแข่งขันก็ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่
ถ้าคุณมีโอกาสได้พูดกับคนที่คุณแซงผ่านในการแข่งขันตลอดมา คุณอยากบอกอะไรพวกเขา
อรุณสวัสดิ์ครับ (หัวเราะ)
เรื่อง: ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์จุดประกาย (Talk)
ฉบับวันอังคารที่ 15 เมษายน 2557