Home / Articles / ทริปสะอาดครั้งที่ 14 สองล้อสองแผ่นดิน จากโป่งน้ำร้อนถึงพระตะบอง

ทริปสะอาดครั้งที่ 14 สองล้อสองแผ่นดิน จากโป่งน้ำร้อนถึงพระตะบอง

สองล้อสองแผ่นดิน จากโป่งน้ำร้อนถึงพระตะบอง 2- 5 พฤษภาคม 2557

พวกเรา 51 ชีวิตออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ในคืนวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2557ด้วยรถบัสพร้อมรถบรรทุกจักรยานเหมือนเช่นเคย ไปถึงที่หมายอย่างราบรื่นก่อนกำหนด  การปั่นจักรยานเริ่มขึ้นหลังอาหารเช้า จากที่พักเราแวะที่ตลาดโป่งน้ำร้อนสั้นๆ แล้วตรงไปหาความรื่นรมย์กับดินแดนแห่งผลไม้อันเลื่องลือนี้ จุดแรกเป็นสวนที่มีมะไฟอย่างเดียว แล้วก็ไปสวนที่มีผลไม้หลากชนิดของคุณแมนฤทธ์ ยงเจริญได้ชิมทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์พวงมณีและชมการสาธิตเก็บทุเรียน สวนนี้ยังมีทุเรียนอีกหลายพันธุ์ เงาะ มังคุด มะม่วง ลองกอง กล้วย  ชิมแล้วพวกเราหลายคนติดใจเลยสั่งไว้รอเอาวันกลับ

จากสวนผลไม้ เราขี่มุ่งหน้าชายแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างทางแวะที่วัดเขาชวังชมพระอุโบสถที่สร้างด้วยไม้เนื้อแข็งแกะสลักเป็นเรื่องราวต่างๆ เท่าที่ทราบน่าจะเป็นโบสถ์ไม้ทั้งหลังที่ขณะนี้มีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย  โบสถ์นี้สร้างมาสามปี คร่อมเหนือหินภูเขาไฟที่โผล่พ้นดินขึ้นมา พื้นโบสถ์เหนือหินทำเป็นแก้วให้มองเห็นหิน ทั้งยังเปิดลงไปได้ด้วย

ออกจากวัดมาก็โดนฝนอย่างหนักจนหลายคนตัดสินใจหยุดรอ และเมื่อไปถึงชายแดนไทย-กัมพูชาก็เลยไม่เที่ยวตลาดกัน แต่มุ่งตรงไปที่ด่านถาวรบ้านผักกาดเลย ทำพิธีตรวจคนเข้าเมืองแล้วขี่ข้ามไปฝั่งกัมพูชาที่ Phsar Prum

เราเปลี่ยนมาปั่นชิดขวาตามระบบจราจรของกัมพูชาบนทางหลวงสาย 57ซึ่งเป็นถนนลาดยางสภาพดีขึ้นลงเนินสู่เมืองไพลิน ผ่านอนุสาวรีย์วีรบุรุษนักรบยิงธนูเจ็ดดอกที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัจจุบันมาสร้างรูปปั้นม้าสีทองเก้าตัวไว้ตรงหน้า แม้จะดูขัดกัน แต่ก็ถ่ายรูปได้สวยดี หยุดกินอาหารกลางวันช้ากว่ากำหนดไปเกือบสองชั่วโมงแล้วปั่นต่อไปสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเมืองไพลิน (CENTER D’ORPHELING ENFANTS D’ASIE ASPECA PAILIN)

             

ที่นี่เราได้รับการต้อนรับอย่างแสนประทับใจจากเด็กๆ มีการแสดงของเด็กรุ่นโต โดยเด็กหญิงมารำอย่างสวยงามและเด็กชายเล่นดนตรีเป็นวงคล้ายวงพิณพาทย์ของไทย ทำให้ได้เห็นความคล้ายคลึงของวัฒนธรรมสองชาติ ซึ่งในความเป็นจริง ผู้ปกครองไทยรับจากกัมพูชามามากในสมัยอยุธยา  ส่วนพวกเรา นอกจากของบริจาคที่เตรียมกันมาแล้ว ยังบริจาคเงินสมทบอีกไม่น้อย และอาจารย์ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ยังได้ประกาศว่าชมรมฯ จะสนับสนุนทุนการศึกษา 10,000 บาทให้เด็กที่นี่ได้เรียนสูงขึ้นถึงขั้นมหาวิทยาลัยตามความสามารถและการใฝ่ฝันด้วย

         

ที่นี่เราเอาจักรยานขึ้นรถบรรทุกแล้วเปลี่ยนมานั่งรถตู้มุ่งหน้าไปเขาพนมสำเภา รอชมค้างคาวร่วมกับนักท่องเที่ยวฝรั่งอีกนับสิบคน จนหกโมงกว่าก็ได้เห็นฝูงค้างคาวนับล้านบินออกจากถ้ำเป็นสายธาร แม้หลายคนเคยเห็นมาแล้วที่เมืองไทย แต่ที่นี่เราได้ดูอย่างใกล้ชิดเกือบถึงปากถ้ำเลย ดูจนสะใจแล้วเดินทางต่อไปโรงแรมที่พักในเมืองพระตะบอง  เส้นทางช่วงนี้ทรุดโทรมเสียหายมาก บางส่วนเริ่มมีการซ่อมแซม  ในรถ เราได้ทราบจากน้องผู้หญิงชาวกัมพูชาที่ทำหน้าที่เป็นล่ามและมัคคุเทศก์จำเป็นว่า ชื่อเมืองในภาษากัมพูชาคือ “บัตตัมบอง” นั้นแปลว่า “ตะบองหาย” ตามตำนานในอดีต  มาถึงแล้วเราไปหาอาหารกินกันย่านที่นักท่องเที่ยวฝรั่งชอบไปซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำไม่ไกลนักจากโรงแรม ระยะทางที่ปั่นวันนั้นประมาณ 60 กิโลเมตร

   

รุ่งขึ้น วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม 2557 เราเก็บสัมภาระขึ้นรถบรรทุกจักรยานแล้วไปหาอาหารเช้ากินกันบริเวณย่านเดิมที่ไปกินมื้อค่ำ หลายคนลองกินอาหารเช้าอย่างคนกัมพูชาในตลาดซานัด  ย่านนี้ติดแม่น้ำซองแกร์ คั่นโดยถนนหมายเลข 1 ซึ่งเป็นถนนสายหลักของเมืองเลียบแม่น้ำฝั่งตะวันตก มีทางเดินเท้ากว้างขวางร่มรื่นและเรียงรายไปด้วยอาคารสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสยุคอาณานิคมที่สร้างระหว่าง พ.ศ. 2450-2483 ที่ว่ากันว่า “หลากหลายกว่าในมะละกา สวยกว่าในดานัง”จริงหรือไม่ก็คงต้องถามคนที่เคยไปมาทั้งสามเมืองนี้เท่านั้น  ใกล้ตลาดซานัด ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจย่านกลางเมืองและตัวอาคารเองก็เด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตเดโค สร้างในปี พ.ศ. 2479 ก็มีอาคารธนาคารแห่งประเทศกัมพูชาที่เพิ่งบูรณะเสร็จสวยเด่นอีกหลัง

   

หลังอาหาร เราปั่นไปตามถนนสายนี้มุ่งลงใต้ ชมอาคารต่างๆ ที่สวยงามตามรายทาง ผ่านพิพิธภัณฑ์และศาลาว่าการจังหวัด ซึ่งข้างๆ มีอาคารที่สร้างในปี 2448 โดยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ สมัยที่มาเป็นสมุหเทศาภิบาลปกครองมณฑลบูรพาของสยามประเทศเวลานั้น อาคารนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลี่ยนและมีตึกคู่แฝดที่สร้างตามมาทีหลังอยู่ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในปัจจุบัน ปั่นไปเรื่อยเริ่มออกนอกเมืองข้ามแม่น้ำไปฝั่งตะวันออก ไม่กี่กิโลเมตรก็ไปถึงสถานีต้นทางของ “รถไฟไม้ไผ่”

รถไฟไม้ไผ่” ที่แท้ก็คือแคร่ไม้ไผ่ขนาด 2.5 x 4 เมตรวางบนล้อสองคู่ ขับเคลื่อนล้อหลังด้วยเครื่องยนต์เล็กๆ ทั้งหมดเบาพอยกได้เพื่อกลับรถหรือยกออกจากรางเวลาหลบหลีกกัน  นี่คือภูมิปัญญาของชาวบ้านกัมพูชาให้พวกเขาสามารถใช้เดินทางได้เองบนรางคู่เดียวที่ฝรั่งเศสสร้างไว้จากพนมเปญไปชายแดน รางกว้างเท่าๆกับรางรถไฟที่เมืองไทย ทางรถไฟนี้เลิกใช้ไปแล้วหลังสมัยเขมรแดง แต่ชาวบ้านยังดูแลรักษาไว้ราว 5-6 กิโลเมตรเพื่อหารายได้จากนักท่องเที่ยว ซึ่งก็ได้ผล เพราะมีชื่อเสียงขนาดพูดกันว่านักท่องเที่ยวคนไหนมาพระตะบอง “ถ้ายังไม่ได้นั่งรถไฟไม้ไผ่ ก็ยังมาไม่ถึงพระตะบอง”  พวกเราส่วนใหญ่ก็ยอมจ่ายเงินค่าโดยสารหาประสบการณ์เอาไปคุยกับเขาได้ด้วยเหมือนกัน นั่งกินลมคันละ 4-5 คนกันอย่างเพลิดเพลิน ชมทิวทัศน์ตามทางซึ่งส่วนใหญ่เป็นทุ่งนาราว 20 นาทีก็ไปถึงปลายทางมีเพิงขายเครื่องดื่มและของที่ระลึกต่างๆ

   

นั่งรถไฟไม้ไผ่กลับมาต้นทาง แล้วเราปั่นกลับเข้าเมืองย้อนเส้นทางเดิมมาหยุดแวะชมบ้านโบราณแบบเขมรที่หมู่บ้านวัดกอ ห่างจากเมืองราว 2 กิโลเมตร บ้านยกพื้นที่เราขึ้นไปดูอายุ 94 ปี (สร้างปี พ.ศ. 2463) เป็นบ้านของอดีตผู้บัญชาการทหาร นางบุนเรือง เจ้าของบ้านคนปัจจุบันเป็นหลานตา อายุ 90 แล้ว แต่ยังแข็งแรง พูดฝรั่งเศสคล่องปรี๊ด เล่นพิณสองสายให้เราดู แกบอกว่าสมัยก่อนไม่มีโทรทัศน์ก็บันเทิงกันแบบนี้  จากนั้นก็ปั่นกลับเข้าเมืองไปถ่ายรูปกันที่ศาลาว่าการเก่าของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร แล้วก็ไปกินอาหารกลางวันที่บริเวณสำนักงานกระทรวงการท่องเที่ยวจังหวัดพระตะบอง ฝั่งตรงข้ามถนน  พวกเราหลายคนอาจไม่ได้สังเกตว่า ความจริงอาคารสำนักงานนี้เองก็เป็นอาคารเก่า เคยเป็นบ้านพักของผู้ว่าการจังหวัดสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส (พ.ศ. 2450-2495)  กินเสร็จ พักเล็กน้อยก็ปั่นข้ามแม่น้ำอีกครั้งไปดูรูปปั้นพญาโคตรตะบองขยุง (Ta Dambong Kro nhung Statue) อันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดพระตะบอง รูปปั้นสูง 6.5 เมตรนี้ตั้งอยู่ตรงกลางวงเวียนทางไปพนมเปญกับจังหวัดบันเตยเมียนเจีย  รูปปั้นเดิมที่สร้างสมัยสังคมนิยมตัวเล็กกว่าและมาสร้างใหม่เป็นตัวนี้เมื่อปี 2542 ชาวพระตะบองนับถือมาไหว้ขอพรกันมากสังเกตได้จากของเซ่นไหว้

         

ปั่นกลับมาโรงแรม เราเอาจักรยานขึ้นรถบรรทุกแล้วนั่งรถตู้ไปพิพิธภัณฑ์พระตะบอง มีอาคารหลังเดียวค่อนข้างเล็ก  ของที่แสดงส่วนใหญ่มาจากคริสตศตวรรษที่ 10-11 ราวพันปีมาแล้ว เป็นทับหลังมากที่สุด  อื่นๆก็มีรูปแกะสลักเทพเจ้าของศาสนาฮินดู พระพุทธรูป ศิวลึง ฯลฯ  จากนั้นก็ไปวัดดำเรยซอ (คนไทยเรียกวัดช้างเผือกจากรูปปั้นปูนพระเวสสันดรทรงช้างเผือก) วัดนี้สร้างในปี พ.ศ. 2447 เป็นวัดเก่าแก่ในตระกูลอภัยภูเบศรที่สำคัญแห่งหนึ่ง พระอุโบสถมีศิลปะปูนปั้นโดยรอบ มีพระมงกุฎตราประจำรัชกาลที่ 5 อยู่บนยอดหน้าบัน ขณะนี้กำลังมีการซ่อมแซมหลังจากถูกทิ้งให้ทรุดโทรมมาเป็นเวลานาน

จากวัดดำเรยซอ เรานั่งรถตู้ไปปราสาทบานัน ห่างจากเมืองออกมาราว 20 กิโลเมตร ตัวปราสาทที่มีห้าหลังตั้งอยู่บนยอดเนิน ต้องเดินขึ้นบันไดกว่า 300 ขั้น สูงขนาดนี้เรายังเห็นคนชราชาวกัมพูชา บางคนอายุน่าไม่น้อยกว่า 80ขึ้นไปได้ คงเป็นเพราะความศรัทธา  ปราสาทโบราณอายุพันปีนี้เริ่มสร้างโดยพระเจ้าธรนินทรวรมันที่ 2 ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่  11 ใช้เวลากว่าร้อยปีมาสร้างเสร็จโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12  ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมระดับชาติของกัมพูชาในยุคเดียวกับนครวัด

จากประสาทบานัน เรามาหยุดแวะชมวัดพนมหยาดที่วันก่อนไม่ได้แวะวัดนี้อยู่บนยอดเนินเช่นกันแต่รถตู้ขึ้นไปได้ถึง เราลงชมเจดีย์แบบพม่าทรงเดียวกับเจดีย์ชเวดากอง แม้จะเริ่มเย็นย่ำแล้วก็ยังเหลืองอร่ามเพราะห่อหุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ถัดลงไปเป็นโบสถ์ขนาดย่อมที่ด้านนอกเต็มไปด้วยภาพเขียนบนฝาผนัง รูปปั้นจำลองนรกภูมิ และพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่  พวกเราส่วนหนึ่งเดินลงเขาทางบันไดมาศาลตรงตีนเนินเขาที่มีรูปปั้นขนาดใหญ่ของ “ยายหยาด” ผู้สร้างวัดจากเงินทองที่ได้มาจากการขายพลอยที่ขุดได้ที่นี่ น้องล่ามกัมพูชาบอกว่ารูปปั้นยายหยาดเป็นที่เคารพศรัทธามาก ชาวบ้านผ่านไปผ่านมาก็ต้องไปขอพร  ส่วนเรามุ่งหน้าต่อไปชายแดนเมื่ออาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว กว่าจะผ่านพิธีตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านทั้งสองฝั่งก็เลยหนึ่งทุ่ม เราขึ้นรถบัสไปรีสอร์ทที่พัก  วันนี้ทั้งวันปั่นเพียงราว20 กิโลเมตรเนื่องจากเราเปลี่ยนมานั่งรถตู้มากเพื่อให้ไปดูได้หลายแห่ง

                        

วันที่สามของการท่องเที่ยว คือวันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม 2557เราเก็บสัมภาระขึ้นรถบัส กินอาหารเช้าแล้วปั่นไปตามทางหลวงสายหลักขึ้นลงเนินไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เมื่อมาถึงหมดทุกคนแล้ว เราก็ได้ฟังคำบรรยายจากหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถึง “ป่าพนมสารคาม” หรือผืนป่าตะวันออกที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยไปกว่าผืนป่าตะวันตก เคยเป็นป่าผืนเดียวที่มีเนื้อที่ถึง 5 ล้านไร่ แต่เมื่อมีการตัดถนนจันทบุรี-สระแก้วในปี 2511 ป่าก็เริ่มถูกบุกรุกทำลายจนในปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 1.5 ล้านไร่และแตกออกเป็นป่าห้าผืนซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ทั้งสิ้น โดยมีป่าเขาสอยดาวเป็นผืนใหญ่สุดมีเนื้อที่กว่าสี่แสนไร่ เป็นต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำจันทบุรี และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง รวมทั้งกระวาน “ราชินีของเครื่องเทศ” และกบอกหนาม ที่พบที่นี่แห่งเดียวในโลก

ฟังบรรยายจบ เราปั่นต่อเข้าไปน้ำตกเขาสอยดาว กินอาหารกลางวัน ขึ้นไปเล่นน้ำตกกันสนุกสนาน พร้อมทั้งช่วยกันเก็บขยะ  ที่นี่เราเก็บจักรยานขึ้นรถบรรทุก เปลี่ยนมานั่งรถบัสไปแวะชมตลาดชายแดนไทย-กัมพูชาบ้านแหลม แล้วออกเดินทางกลับกรุงเทพฯ แวะรับประทานอาหารระหว่างทาง ถึงกรุงเทพมหานครโดยสวัสดิภาพราวห้าทุ่ม  วันสุดท้ายนี้เราปั่นประมาณ 40 กิโลเมตร

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

Leave a Reply

Your email address will not be published.