กิติศักดิ์ อินทรวิศิษฎ์ รองประธานกรรมการกำกับทิศโครงการฯ
เมื่อราวสี่ห้าปีก่อน ผมเริ่มมีความคิดที่อยากจะใช้จักรยานเพื่อไปทำงานเพราะมองเห็นถึงความสะดวกและรวดเร็วแบบชีวิตกำหนดได้ ต่อมาเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงถึง 100 เหรียญต่อบาร์เรล ผมก็เลยตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่ผมจะต้องใช้จักรยานไปทำงานกันเสียที
วันแรกที่ปั่นจักรยานบนท้องถนนเพื่อไปทำงานผมรู้สึกแปลกๆเพราะเมื่อสี่ห้าปีก่อนนั้นหาคนที่ปั่นจักรยานไปทำงานได้น้อยเต็มทีไม่เหมือนสมัยนี้ ที่เราจะพบเห็นได้ทุกเช้าตอนไปทำงานและตอนเย็นหลังเลิกงาน
หลังจากใช้จักรยานไปทำงานระยะหนึ่ง ผมก็เริ่มพบว่าปัญหาที่แท้จริงของผู้ใช้จักรยานเพื่อไปทำงานนั้นหาใช่การมีอยู่หรือไม่มีของทางจักรยานและไม่น่าจะเกี่ยวกับความร้อน ความหนาว หรือกระทั่งตอนฝนตก หากแต่อยู่ที่การไม่มีอยู่ของสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า End of Trip Facilitiesต่างหาก แล้วเจ้า End of Trip Facilitiesคืออะไร คำตอบง่ายๆ ก็คือ ที่จอดที่ปลอดภัยและยอมรับได้ (Safe and Acceptable bicycle parking area) ก็คือ ห้องอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนไปทำงานหรือกระทั่งตู้เก็บเครื่องใช้ต่างๆที่ผมนำติดตัวไปตอนปั่นจักรยานไปทำงาน การไม่มีสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นปัญหาที่ดูจะหนักหนาสาหัสมากกว่าการไม่มีทางจักรยานด้วยซ้ำไป
หลายคนอาจสงสัยว่าผมกำลังพูดถึงอะไร ผมจะทยอยเล่าให้ฟังเป็นข้อๆครับ
1.จุดจอดจักรยานที่ปลอดภัยและยอมรับได้ (Safety and Acceptable parking area) ถ้าผู้อ่านเคยเดินทางไปต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ใช้จักรยานเพื่อไปทำงาน เราจะเห็นจุดจอดจักรยานที่ปลอดภัยถูกจัดเตรียมไว้เต็มไปหมด บางจุดจะมี รปภ. ดูแล มีกล้อง CCTV ติดอยู่ บางจุดเป็นเหมือนกล่อง มีกุญแจล็อกได้ ซึ่งแบบที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะออกแบบไว้สำหรับการจอดจักรยานทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน เพื่อไปทำงาน และกลับมาเอาจักรยานไปใช้อีกครั้งตอนปั่นจักรยานกลับบ้าน ส่วนแบบโครงที่ทำแบบง่ายๆนั้นใช้เวลาไม่นาน ซึ่งปัจจุบันมีการออกแบบให้สวยงามและเป็นอุปกรณ์ตกแต่งพื้นที่ทางเดินเท้าและสวนไปด้วยเลยทีเดียว ต้องยอมรับว่าแม้ปัจจุบันจะมีผู้ใช้จักรยานไปทำงานมากขึ้นแต่ก็ยังเห็นจุดจอดที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับการจอดจักรยานทิ้งไว้นานๆน้อยมาก อาจเป็นประเด็นนี้แหละครับที่ทำให้คนที่อยากจะใช้จักรยานไปทำงานมีความกังวลว่าเอาจักรยานไปจอดทิ้งไว้เป็นวันแล้วกลับมาจะหายหรือเปล่า ก็เลยตัดสินใจไม่ใช้มันซะเลย ซึ่งผมก็หวังว่าในอนาคตจะมีตึก อาคารต่างๆหันกลับมามองเรื่องดังกล่าว และตัดสินใจลงทุนเพื่อจัดหาที่จอดจักรยานที่ปลอดภัยและยอมรับได้ไว้ตามตึกของตนเองมากยิ่งขึ้น
2. ห้องอาบน้ำ(Shower Room) ดูเหมือนว่าห้องอาบน้ำจะกลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับการใช้จักรยานเพื่อไปทำงานโดยเฉพาะในประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทย ผมเองเป็นคนที่เหงื่อออกง่าย โดยเฉพาะหลังจากปั่นจักรยานไปถึงที่ทำงาน สิ่งที่ผมต้องการ คือ ห้องอาบน้ำที่มีน้ำเย็นๆให้ผมอาบ ถูสบู่ให้หอมก่อนแต่งตัวไปทำงานในฐานะของพนักงานออฟฟิสทั่วไป ถ้าไม่มีที่อาบน้ำผมคงต้องทนดมกลิ่นเหงื่อของตัวเองทั้งวัน แต่นั้นมันยังไม่แย่เท่ากับบรรดาเจ้านาย ลูกน้อง และลูกค้าของผมต้องมาเป็นผู้ร่วมชะตากรรมกับผมไปด้วย ดังนั้นการมีห้องน้ำในตึกที่ทำงานให้ผู้ใช้จักรยานได้ไปอาบน้ำได้จึงเป็นตัวที่ช่วยกระตุ้นให้คนหันมาใช้จักรยานเพื่อไปทำงานเพิ่มมากขึ้น
3. ที่เก็บสิ่งของและสัมภาระ (Locker) อาจเป็นเรื่องเล็กๆที่คนมักจะมองข้ามไปแต่สำคัญมากนะครับ เพราะเจ้า Locker เล็กๆนี่แหละที่ผมจะสามารถนำเสื้อผ้าอันเปื้อนเหงื่อของผมไปตากใน Locker ได้ หรือสามารถเอาเสื้อผ้าที่จะใส่ไปทำงานไปแขวนไว้ได้ โดยที่ผมไม่ต้องนำทุกอย่างไปไว้ในห้องทำงานของผม ซึ่งก็จะทำให้การใช้จักรยานไปทำงานของผม มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และแลดูจะเป็นสัดส่วน ไม่ไปรบกวนใครในที่ทำงาน
ครับ..ทั้งหมดที่กล่าวมาก็คือสิ่งที่มีความจำเป็นและถ้าต้องการกระตุ้นและส่งเสริมให้คนใช้จักรยานไปทำงานมากยิ่งขึ้น เราก็ควรจะมีสิ่งเหล่านั้นเพิ่มมากขึ้นด้วย และผมก็เชื่อว่าถ้าตึกที่ทำงานใดๆจะลงทุนเพื่อสร้างที่จอดจักรยานที่ปลอดภัยและยอมรับได้ (Safe and Acceptable Bicycle Parking Area) สร้างที่อาบน้ำ (Shower Room) และ Locker แม้จะมีค่าใช้จ่ายอยู่บ้างแต่ผู้ใช้จักรยานไปทำงานก็คงพร้อมจะจ่ายค่าเช่าให้ด้วยความเต็มใจและพอใจที่จะจ่ายเงิน ครับเพราะสิ่งที่พวกเค้าได้รับกลับคืนมาคือ เวลา สุขภาพ และความสุขที่ได้ปั่นจักรยานไปทำงานทุกวันครับ