คนที่เดินทางอย่างกระฉับกระเฉงมีความสุขมากกว่า
ภาพจาก‘Bilobicles Bag’ Flickr gallery
ความจริงก็มีการศึกษากันมานานแล้วจนพอจะพูดได้ว่า มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างการเดินทางอย่างกระฉับกระเฉงกับสภาพที่ดีทางจิตใจ แต่การศึกษาเหล่านั้นก็ยังไม่เด็ดขาดทรงพลังเพียงพอที่จะให้ข้อสรุปอย่างไม่อาจโต้แย้งได้ในทางวิทยาศาสตร์ จนล่าสุดมีการตีพิมพ์รายงานการศึกษาที่สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (ECF) เอามาเปิดเผย ซึ่งโดดเด่นจากการศึกษาที่ทำกันมาก่อนหน้านี้ตรงที่เป็นการศึกษาขนาดใหญ่ที่ทำกับผู้เดินทางมากถึง 18,000 คน เป็นเวลานานมากถึง 18 ปี อย่างไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการเดินทางของคนกับสุขภาพทางจิตและความสุข ECFเชื่อว่า การศึกษาที่ใหญ่และนานขนาดนี้ทำให้ผลที่ออกมาแทบจะสรุปได้แล้วว่า “การเดินและการขี่จักรยานไปทำงานทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น”
คุณอดัม มาร์ติน ผู้เขียนรายงานและหนึ่งในทีมงานวิจัยเปิดเผยว่า ยิ่งคนเดินทางในรถยนต์นานเท่าใด สภาพจิตใจก็ยิ่งแย่ลงเท่านั้น และในทางตรงข้าม คนจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้เดินไปทำงานนานขึ้น จะว่าไปนี่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดเลยสำหรับคนที่เลือกทิ้งรถและหันมาเดินทางไปทำงานด้วยการเดิน หรือการขี่จักรยาน หรือการใช้ขนส่งสาธารณะ (ในเมืองไทยก็หามาถามดูได้นะครับ คนที่เลือกทำเช่นนี้นับวันจะมีมากขึ้นทุกที หลายคนก็เป็น “คนดัง” ที่มีคนรู้จักไม่น้อย) พูดได้ว่า การเดินทางทั้งสามรูปแบบนี้ ไม่ว่าแบบไหนดีกับคุณทั้งนั้น
แต่เหตุผลที่ ECF ยังไม่ฟันธงเด็ดขาดลงไปเลยทีเดียว โดยเฉพาะกับคนที่ใช้จักรยาน ก็เนื่องจากสัดส่วนวิธีการเดินทางของผู้เข้าร่วมในการศึกษาครั้งนี้ ส่วนใหญ่ที่สุดคือร้อยละ 67 ขับรถไปทำงาน มีเพียงร้อยละ 18 ที่ใช้ขนส่งสาธารณะ ร้อยละ 11 เดิน และร้อยละ 3 เท่านั้นที่ขี่จักรยาน ดังนั้นจำนวนผู้ใช้จักรยานยังน้อยเกินไป กระนั้นวารสารวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอีกฉบับคือ The Lancet ฉบับเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็ได้เรียกร้องให้นักการเมืองนำความรู้ที่มีนี้ไปใช้และวางผังเมืองให้ส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยาน ซึ่งจะกระตุ้นให้คนเมืองเปลี่ยนวิธีเดินทาง หันมาเดินและขี่จักรยานมากขึ้น และเกิดผลดีไม่เพียงต่อตัวผู้เดินทางเอง แต่ยังดีต่อสิ่งแวดล้อมและต่อสังคมด้วย
———————————————————————————————————————————————————–
กวิน ชุติมา เรียบเรียงจาก Scientific study: “an active commuter is a happier person”ในจดหมายข่าวของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (ECF) ฉบับวันที่ 1ตุลาคม 2014 ดูรายงานฉบับเต็มชื่อ Does active commuting improve psychological wellbeing? Longitudinal evidence from eighteen waves of the British Household Panel Surveyใน Journal of Preventive Medicine ได้ที่ http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0091743514003144)