Home / Articles / เคมบริดจ์ เมืองที่การเดินทางราวครึ่งหนึ่งในใจกลางเมืองทำด้วยจักรยาน

เคมบริดจ์ เมืองที่การเดินทางราวครึ่งหนึ่งในใจกลางเมืองทำด้วยจักรยาน

เคมบริดจ์ เมืองที่การเดินทางราวครึ่งหนึ่งในใจกลางเมืองทำด้วยจักรยาน

                               ภาพจากStreetfilms

เวลาเราพูดถึง “เมืองจักรยาน” หรือเมืองที่ประชากรจำนวนมากใช้จักรยานเป็นวิธีการเดินทาง เราก็จะคิดถึงอัมสเตอร์ดัมในเนเธอร์แลนด์หรือโดเปนฮาเกนในเดนมาร์ก  และถ้าคิดถึงอังกฤษในแง่เดียวกันนี้ ลอนดอนก็จะขึ้นมาเป็นอันดับแรก และเราแทบจะไม่เคยได้ยินชื่อเมืองอื่นเลย  แน่นอนว่าการใช้จักรยานในลอนดอนเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงสิบปีที่ผ่านมาและเป็นข่าวให้เห็นทางสื่อบ่อยครั้ง แต่คนทั่วไปหารู้ไม่ว่ามีเมืองอื่นในประเทศเกาะแห่งนี้ที่การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันก้าวไปไกลกว่าลอนดอนมากนักอย่างเงียบๆ  หนึ่งในเมืองที่ว่านี้คือเคมบริดจ์ หนึ่งในเมืองมหาวิทยาลัยสองแห่งของอังกฤษที่มีชื่อเสียงก้องโลก

เคมบริดจ์ก้าวไปไกลมากจากที่ผมเคยพาคนไทยไปเที่ยวหลายครั้งสมัยเรียนอยู่ที่อังกฤษกว่าสามสิบปีก่อน และก็ยังเป็นเมืองที่คุณควรไปในอังกฤษหากมีเวลามากกว่าแค่เที่ยวลอนดอน แน่นอนว่าเมืองนี้เป็นเมืองที่กะทัดรัด และตั้งแต่สมัยนั้นผมก็เห็นว่ามีการใช้จักรยานอยู่ โดยเฉพาะของนิสิตนักศึกษาในส่วนของเมืองที่เป็นมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ได้มากมายจนน่าสังเกต การจัดระบบการจราจรของเมืองก็เช่นกัน ยังมีรถยนต์วิ่งกันขวักไขว่  แต่มาปีนี้มีคนขนานนามเคมบริดจ์ว่าเมืองหลวงจักรยานของอังกฤษไปแล้ว จากการที่การเดินทางร้อยละ 22 ของการเดินทางทั้งหมดในเมืองนี้ทำด้วยจักรยาน และถ้าเข้าไปที่ย่านใจกลางเมืองแล้ว การใช้จักรยานเป็นราวครึ่งหนึ่งของการเดินทางทั้งหมดทีเดียว  แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ห้ามนิสิตนักศึกษาใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่นี่ไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมด เพราะแม้แต่คนที่อยู่ชานเมืองมากขึ้นทุกทีก็ใช้จักรยานในการเดินทาง หากดูวิดิทัศน์เคมบริดจ์เมืองจักรยานที่ทำโดย Streetfilmsซึ่งหาดูได้ใน Youtube คุณจะพบเหมือนกับผมว่า การที่มีคนใช้จักรยานจำนวนมากจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็น “มวลวิกฤต” (critical mass) ได้เปลี่ยนแปลงเมืองนี้(ให้ดีขึ้น)ไปอย่างน่าทึ่ง

เมื่อมีคนใช้จักรยานมาก ผู้บริหารเมืองก็ออกแบบ สร้าง และปรับปรุงเมืองให้รองรับการใช้จักรยานให้สะดวก ปลอดภัย น่าใช้มากขึ้น  ในทางกลับกัน โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อการขี่จักรยานเช่นนี้ก็เปิดโอกาสและดึงคนออกมาใช้จักรยานมากขึ้นด้วย (คำแนะนำของ ดร.เบิร์นฮาร์ด เอ็นซิงก์ เลขาธิการใหญ่สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (ECF)  สำหรับการส่งเสริมการใช้จักรยานในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้นนั้น ควรให้น้ำหนักมุ่งไปที่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุดก่อนสิ่งอื่นใด)  

                               ภาพจาก Streetfilms

นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเคมบริดจ์เลย อย่างเช่นการสร้างสะพานให้เฉพาะคนเดินเท้าและจักรยานใช้อย่างในภาพ และก็เช่นเดียวกับเมืองที่ส่งเสริมการเดินการใช้จักรยานทั้งหลาย โดยเฉพาะในทวีปยุโรป เคมบริดจ์ยังจัดระบบการสัญจรที่เพิ่มความปลอดภัยในการใช้ถนนมากขึ้น  มาตรการจราจรเช่นว่านี้นอกจากการจำกัดความเร็วที่ 20 ไมล์(หรือ 32 กิโลเมตร)ต่อชั่วโมงในหลายย่านแล้ว ยังมีการติดตั้งหลักกั้นถนนล้อมย่านใจกลางเมืองด้วย  หลักกั้นถนน ซึ่งเราอาจจะเรียกว่า “หลักกั้นถนนอัจฉริยะ” ก็ได้นี้มีระบบอิเล็กโทรนิกที่จะเลื่อนหลักลงไปซ่อนใต้พื้นถนนให้ยานยนต์ที่มีเครื่องส่งสัญญาณแล่นเข้ามาผ่านได้ ซึ่งจะจำกัดไว้แต่รถบริการสาธารณะ เช่น รถประจำทาง รถแท็กซี่ รถขนขยะ รถดับเพลิง รถตำรวจ รถพยาบาล ฯลฯ รวมทั้งรถที่ขนสินค้ามาส่งห้างร้านที่ตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมืองด้วยเท่านั้น ทำให้ย่านนี้เป็นย่านปลอดรถยนต์ส่วนตัวไปและเป็นย่านที่ไปไหนมาไหนสะดวกที่สุดด้วยการเดินและการใช้จักรยาน  

ส่วนในย่านที่อยู่อาศัย เคมบริดจ์ใช้ยุทธศาสตร์ที่มีชื่อเรียกทางการเป็นวิชาการสักหน่อยว่า “ให้ผ่านได้แบบมีการกรอง” สำหรับชะลอรถยนต์ โดยเอาอุปสรรคต่างๆ มาติดตั้งตามทางแยก และในถนนซอยที่ผ่านหน้าบ้านคนก็ทำเป็นประตูเหล็กเหลื่อมกันกั้นไว้ เดินและขี่จักรยานผ่านได้สบาย ส่วนคนที่ใช้รถยนต์ต้องหยุดลงมาเปิด ทำให้ไม่อาจขับเข้าไปเร็วๆ และทำให้คนขับรถไม่อยากผ่าน ไม่อยากเข้าไป ไม่อยากใช้เป็นทางลัด นอกจากบ้านจะอยู่ในนั้น  ความจริงยุทธศาสตร์ หรือเทคนิค หรือมาตรการต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่ใช่ของใหม่ และใช้กันแพร่หลายใน “เมืองจักรยาน” ที่มีชื่อเสียงทั้งหลายในโลก ไม่ว่าจะเป็นโกรนิงเกน โคเปนฮาเกน อัมสเตอร์ดัม ในยุโรป หรือพอร์ตแลนด์กับเบิร์คลีย์ในสหรัฐอเมริกา

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจตั้งข้อสังเกตแล้วว่าไม่มีการพูดถึง “ทางจักรยาน” เลย เคมบริดจ์มีทางจักรยานครับ แล้วก็จะสร้างเพิ่มขึ้นด้วยเพื่อรองรับกับเมืองที่เติบโตขึ้น ซึ่งแน่นอนย่อมมีคนส่วนหนึ่งที่ยังเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง โดยที่แม้จะมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนถนนที่จำกัดความเร็วไว้ที่ 20 ไมล์ต่อชั่วโมง  แต่ก็ยังมีถนนที่อนุญาตให้ใช้ความเร็วสูงกว่านั้นได้ ทำให้คนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยานรู้สึกว่ายังไม่ปลอดภัยเพียงพอ  ทางจักรยานที่จะสร้างจึงเป็นทางจักรยานที่ได้รับการปกป้องจากยานยนต์อย่างแท้จริง สร้างแยกต่างหากไปจากถนนเลย หรือติดกับถนนแต่มีสิ่งกั้นขวางถาวรไม่ให้ยานยนต์เข้าไปได้ ให้ความปลอดภัยจริงๆ

ทั้งหมดนี้ตรงกับที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยพยายามสื่อสารออกไปในการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในระยะหลังนี้ นั่นคือ หากผู้บริหารเมืองเห็นด้วยและมุ่งจะปรับเมืองในการดูแลของตนให้เป็น “เมืองจักรยาน” จริงๆแล้ว ก็สามารถกำหนดนโยบายและมีมาตรการต่างๆ ที่สามารถนำมาทำใช้ให้เป็นจริงขึ้นมาได้หลายอย่างและได้ผลมากกว่าการสร้าง “ทางจักรยาน” ด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะการจำกัดความเร็วและการจัดระบบสัญจร(รวมทั้งผังเมือง)ให้เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยาน  ดังในกรณีของเมืองเคมบริดจ์นี้ และเช่นที่ศาสตราจารย์กิติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมฯ กล่าวว่า “ทางจักรยานไม่ใช่คำตอบเดียวและคำตอบสุดท้ายในการส่งเสริมการใช้จักรยาน”

——————————————————————————————————————————————————————————————

กวิน ชุติมา เรียบเรียงจาก Cambridge success story: around 50% of trips in the city center are made on bikes! โดย Michael Graham Richard, Streetfilms และ Cambridge: Britain’s Cycling Capital โดย Clarence Eckerson Jr. 

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เป็นสมาชิกองค์กรแรกในทวีปเอเชียของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลกขององค์กรส่งเสริมการใช้จักรยานระดับประเทศในปัจจุบัน และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรการจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA)

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

Leave a Reply

Your email address will not be published.