Home / Articles / วิจัยพบเสื้อผ้าที่เห็นได้ชัดมีผลน้อยต่อพฤติกรรมคนขับรถ

วิจัยพบเสื้อผ้าที่เห็นได้ชัดมีผลน้อยต่อพฤติกรรมคนขับรถ

วิจัยพบเสื้อผ้าที่เห็นได้ชัดมีผลน้อยต่อพฤติกรรมคนขับรถ

การใส่เสื้อผ้าที่เห็นได้ชัด เช่น มีสีสด หรือติดวัสดุที่สะท้อนแสง ในเวลาขี่จักรยานร่วมถนนกับยานพาหนะอื่นๆ  เป็นสิ่งหนึ่งที่เราได้ยินอยู่เสมอ เช่นเดียวกับการใส่หมวกนิรภัย  มักจะเป็นคำแนะนำจาก “รุ่นพี่” หรือคนที่ขี่จักรยานมาก่อนกับ “น้องใหม่” หรือคนที่เพิ่งเข้ามาร่วมขบวนขี่จักรยานว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย  และใครไม่ปฏิบัติตามนี้ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก (จำข่าวก่อนหน้านี้ได้ไหมครับที่คริส บอร์ดแมน นักจักรยานเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ถูกวิจารณ์จากสื่อมวลชนอังกฤษจากการที่เขาขี่จักรยานไปทั่วเมืองแมนเชสเตอร์ในเสื้อผ้าสีเข้มขณะถ่ายทำวิดิทัศน์รณรงค์การใช้ถนนร่วมกันอย่างปลอดภัย กลับไปอ่านย้อนหลังได้ในเว็บไซต์นี้)  

เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ในวงการจักรยานที่สหรัฐอเมริกาเมื่อเร็วๆนี้ เนื่องจากรัฐไวโอมิ่งออกกฎหมายมาบังคับให้คนที่ขี่จักรยานทุกคนต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่มีวัสดุสะท้อนแสงสีส้มหรือเขียวหรือชมพูที่เห็นได้ชัดจากทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นพื้นที่อย่างน้อย 200 ตารางนิ้ว   แต่จริงหรือที่การใส่เสื้อผ้าเช่นว่านั้นช่วยทำให้คนขับรถเห็นคนขี่จักรยานได้ชัดเจนขึ้นแล้วขับผ่านไปในระย ะห่าง นั่นคือทำให้คนขี่จักรยานปลอดภัยมากขึ้น

การตอบคำถามในเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกับเรื่องอื่นคือ “ใช้ความรู้สึกไม่ได้” หากต้องดูผลจากการศึกษาวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือถึงแม้ว่าผู้ออกกฎหมายดังกล่าวจะแย้งว่าทำไปเพื่อความปลอดภัยของคนขี่จักรยาน  แต่การศึกษาวิจัยในเรื่องนี้กลับไม่สนับสนุน

การศึกษาใหม่ของทีมวิจัยที่นำโดย เอียน วอล์คเกอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบาธ ประเทศอังกฤษ พบว่าเสื้อผ้าที่มองเห็นได้ชัดไม่น่าจะช่วยป้องกันหรือเปลี่ยนพฤติกรรมของคนขับรถในการขับผ่านคนขี่จักรยานใกล้ๆ จนเป็นหรืออาจก่ออันตรายได้   เขาพบว่าการแซงร้อยละ 1-2 จะเกิดขึ้นในระยะห่างน้อยกว่า 50 เซนติเมตร (18 นิ้ว) ไม่ว่าคนขี่จักรยานจะใส่เสื้อผ้าอะไร   คนขับรถส่วนน้อยมากๆ นี้จะแซงจักรยานไปอย่างอันตรายในระยะกระชั้นชิดเสมอไม่ว่าคนขี่จักรยานจะแต่งตัวแบบใด  เสื้อผ้าที่เห็นได้ชัดจะไม่ช่วยป้องกันเพิ่มขึ้นเลย 

เอียน การ์ราร์ด จากมหาวิทยาลัยบรูเนล ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของทีมวิจัย ใช้เครื่องตรวจจับระยะทางด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (อุลตราโซนิก) มาบันทึกว่ารถแต่ละคันแซงผ่านเขาไปในระยะห่างเท่าใดในระหว่างที่เขาขี่จักรยานประจำวัน ไป-กลับระหว่างบ้านที่มณฑลเบิร์กเชียร์กับชานกรุงลอนดอน เป็นระยะรอบละราว 50 กิโลเมตร เก็บข้อมูลได้จากยานพาหนะ 5,690 คันที่แซงผ่านเขาไปในระยะเวลาหลายเดือน

ในการนี้เขาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้า 7 แบบตามภาพ มีตั้งแต่ชุดพิเศษที่นักแข่งจักรยานสวมใส่ ซึ่งบ่งบอกว่าคนขี่มีทักษะและประสบการณ์สูง ไปจนถึงการสวมเสื้อกั๊กที่มีคำว่า “ผู้ใช้จักรยานมือใหม่” ติดอยู่บนเสื้อด้านหลัง บอกให้คนที่ขับรถตามมาเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเขาเป็นคนที่มีประสบการณ์ขี่จักรยานน้อย  เสื้อผ้าบางชุดประกอบด้วยเสื้อที่ออกแบบให้ใช้กับการขี่จักรยานโดยเฉพาะมองเห็นได้ชัด หรือเสื้อกั๊กความปลอดภัยที่มีสีสดและมีแถบสะท้อนแสง (แบบที่คนงานก่อสร้างที่เกี่ยวกับถนนใช้)  เสื้อกั๊กตัวหนึ่งมีคำว่า POLICE (ตำรวจ) ติดไว้ให้เห็นได้ชัดเจน พร้อมกับคำเตือนว่าคนที่ขี่จักรยานอยู่กำลังถ่ายทำวิดิทัศน์การเดินทางของเขา   เสื้อกั๊กอีกตัวที่มีสีสดและแถบวัสดุสะท้อนแสง และมีรูปร่างคล้ายเสื้อกั๊กที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ โดยต่างกันเพียงที่เดียวที่มีคำว่า POLITE (สุภาพ) แทน POLICE

เสื้อผ้าเจ็ดแบบที่ใช้สวมใส่ในการศึกษา

โดยรวมแล้ว นักวิจัยพบว่าความแตกต่างในด้านเสื้อผ้าไม่มีผลแต่อย่างใดกับระยะใกล้ไกลที่คนขับรถแซงคนขี่จักรยาน ยกเว้นประการเดียวคือ คนขับรถจะแซงออกไปห่าง ซึ่งทำให้ปลอดภัยกว่า เมื่อแซงคนขี่จักรยานที่สวมเสื้อกั๊ก “ตำรวจ”  ที่น่าสนใจคือ คนขับรถประพฤติต่างกันต่อคนขี่จักรยานที่ใส่เสื้อกั๊กมีคำว่า POLICE และต่อคนที่ใส่เสื้อมีคำว่า POLITE ทั้งที่ต่างกันแค่ตัวอักษรตัวเดียว  นักวิจัยคนที่ขี่จักรยานทดสอบเองบอกว่า เมื่อใส่เสื้อมีคำ POLITE ไม่เพียงแต่คนขับรถจะแซงเขาใกล้กว่ามากเมื่อเทียบกับเมื่อใส่เสื้อที่มีคำว่า POLICE เท่านั้น หากเขายังรู้สึกว่าเสี่ยงมากขึ้นด้วยจากการที่คนขับรถหลายคนแสดงท่าทีก้าวร้าวมากกว่า

การศึกษาด้วยการสอบถามออนไลน์ผ่านทางอินเตอร์เน็ตถึงความเห็นต่อเสื้อผ้าทั้งเจ็ดแบบดังกล่าว ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็น 269 คน ได้ผลออกมาสอดคล้องสนับสนุนข้อสรุปข้างต้นว่า คนที่ขับรถจะแซงคนขี่จักรยานอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าเขาเห็นเสื้อผ้าแล้วคิดว่าคนขี่จักรยานมีประสบการณ์และทักษะในการขี่จักรยานมากน้อยเพียงใด มิใช่การมองเห็นได้ชัดหรือไม่ชัด

การศึกษาครั้งนี้มีประโยชน์ในแง่ที่มันยืนยันว่าวิธีที่ใช้นั้นละเอียดอ่อนพอที่จะตรวจพบท่าทีตอบสนองที่ต่างกันต่อเสื้อผ้าที่คนขี่จักรยานสวมใส่  แต่ถึงแม้ว่าการศึกษาครั้งนี้เก็บข้อมูลจากพฤติกรรมของคนขับรถจริงบนถนน  ทีมวิจัยก็ไม่ละเลยที่จะยอมรับว่ายังมีตัวแปรอีกหลายอย่างที่พวกเขาไม่สามารถควบคุมให้เป็นมาตรฐานเดียวกันตลอดได้

การศึกษาเมื่อเร็วๆนี้จากนิวซีแลนด์และคานาดาได้ข้อสรุปออกมาทำนองเดียวกันว่า ประสิทธิผลของเครื่องแต่งกายที่สามารถเห็นได้ชัดในการลดอันตรายจากรถยนต์ให้คนขี่จักรยานตามที่มักกล่าวอ้างกัน อาจเป็นการกล่าวที่เกินเลยไป  แต่ก็มีการศึกษาที่เห็นต่างไป  Cochrane Collabortion ทำการวิเคราะห์ผลการศึกษา 42 ชิ้นและได้ข้อสรุปว่า วัสดุสะท้อนแสงสามารถมีผลทำให้คนขี่จักรยานและคนเดินเท้าปลอดภัยมากขึ้น  แต่ถึงแม้ว่าการทำให้มองเห็นได้ดีได้ชัดขึ้นอาจช่วยให้คนขับรถสังเกตเห็นคนขี่จักรยานและคนเดินเท้า ก็ต้องมีการศึกษาให้มากกว่านี้เพื่อพิจารณาว่า การเห็นคนขี่จักรยานและคนเดินเท้าได้ชัดเจนมากขึ้นนำไปสู่การชน การบาดเจ็บ และการสูญเสียชีวิตน้อยลงหรือไม่

ทีมวิจัยเสนอว่า จากข้อมูลที่เก็บได้และนำมาเสนอนี้ ทำให้กล่าวได้ว่า เครื่องแต่งกายของคนที่ขี่จักรยานไม่อาจเป็นคำตอบที่แน่นอนยั่งยืนในเรื่องความปลอดภัยของคนขี่จักรยานได้  และเสนอว่า ทางออกหรือทางแก้ที่ดีที่สุดต่อปัญหาการที่รถยนต์แซงผ่านคนขี่จักรยานไปใกล้มากๆ จนอาจก่อให้เกิดอันตราย ไม่อยู่ที่ตัวคนขี่จักรยานเอง  หากควรมองไปที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐาน การให้การศึกษา หรือกฎหมายที่จะมาป้องกันไม่ให้คนขับรถแซงคนขี่จักรยานในระยะที่ใกล้มากจนเป็นอันตราย

ทีมวิจัยอยากศึกษาสอบสวนต่อไปว่า เครื่องแต่งกายของคนขี่จักรยานมีอิทธิพลต่อความเข้าใจของคนขับรถที่มีต่อประสบการณ์หรือทักษะความสามารถของคนขี่จักรยานหรือไม่ อย่างไร ซึ่งมีผลต่อไปถึงระยะห่างที่คนขับรถใช้ในการแซงคนขี่จักรยาน

ในอดีต ทีมวิจัยชุดนี้เคยศึกษาพบว่า ความจริงแล้ว คนขับรถจะแซงคนขี่จักรยานที่ใส่หมวกนิรภัยในระยะที่กระชั้นชิดมากกว่าแซงคนที่ไม่ได้ใส่ เนื่องจากคนขับรถเข้าใจหรือคิดเอาเองว่า คนขี่จักรยานที่ใส่หมวกนิรภัยมีประสบการณ์มากกว่า ขี่เก่งกว่า ดังนั้นก็เลยทึกทักเอาว่าสามารถจะแซงได้ในระยะที่ใกล้กว่าคนขี่จักรยานที่ไม่ใส่หมวกนิรภัยที่พวกเขาคิดว่ามีประสบการณ์น้อย ขี่จักรยานไม่เก่ง จึงต้องระมัดระวังให้มากขึ้นและแซงให้ห่างออกไป

ข้อค้นพบจากการศึกษานี้ตรงกับข้อสรุปของบริษัทออกแบบโฆษณาแห่งหนึ่งในไทยที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยว่าจ้างในปี 2554 ให้ออกแบบสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยาน (ที่ได้เป็นเครื่องหมาย I Bike I Walk ออกมานั่นแหละครับ)  ทีมผู้ออกแบบได้สำรวจความเห็นของคนขี่จักรยานและคนขับรถจำนวนหนึ่ง และพบว่า คนขับรถจะ ใส่ใจให้ความระมัดระวังในการขับผ่าน และ เอื้อเฟื้อให้ทาง กับคนขี่จักรยานที่แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าธรรมดา ไม่ใส่หมวกนิรภัย และใช้ จักรยานแม่บ้านมากกว่าคนขี่จักรยานที่ใส่ชุดรัดรูป ใส่หมวกนิรภัย ใช้จักรยานเสือหมอบเสือภูเขา ที่ดูเป็น มืออาชีพ มีประสบการณ์ น่าจะขี่จักรยานเก่ง

เรียบเรียงจาก ECF News โดย  กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

Leave a Reply

Your email address will not be published.