เดินไปโรงเรียนมีประโยชน์กับเด็กอย่างน้อยสี่ประการ
ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นทำนองเดียวกันทั่วโลก (ยกเว้นบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น) คือ การที่ผู้ปกครองเลือกขับรถยนต์ส่วนตัวส่งลูกไปโรงเรียนถึงแม้ว่าบ้านของพวกเขาจะอยู่ในระยะห่างจากโรงเรียนของลูกในระยะที่สามารถเดินได้อย่างสบาย ขณะนี้เรายังไม่มีข้อมูลจากการสำรวจหรือศึกษาวิจัยในไทย ไม่ว่าจะของเมืองใดหรือของทั้งประเทศ แต่ก็มีข้อมูลจากหลายประเทศ อย่างเช่นในอังกฤษที่มีรายงานว่า ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ร้อยละของเด็กที่เดินทางไปโรงเรียนด้วยรถยนต์ส่วนตัวเพิ่มขึ้นสองเท่า เป็นเกือบร้อยละ 40 สำหรับเด็กที่เรียนชั้นประถมและเกือบร้อยละ 20 สำหรับเด็กที่เรียนชั้นมัธยม และส่วนใหญ่ระยะทางของการเดินทางนี้น้อยกว่าสามกิโลเมตร, ในสหรัฐอเมริกา การสำรวจการเดินทางของครัวเรือนแห่งชาติพบว่า สัดส่วนของเด็กที่เดินไปโรงเรียนลดลงจากร้อยละ 41 ในปี 2512 มาเหลือเพียงร้อยละ 13 ในปี 2544หรือในเมืองโทรอนโท ประเทศคานาดา แม้เด็กที่บ้านอยู่ห่างจากโรงเรียนในระยะ 1-2 กิโลเมตรยังมีแนวโน้มที่จะเดินไปโรงเรียน แต่จำนวนก็ลดลงเช่นกัน และผู้ปกครองรู้สึกเป็นกังวลจริงๆ ที่จะปล่อยให้ลูกเดินไปโรงเรียน ความจริงความกังวลนี้ไม่จำกัดเฉพาะผู้ปกครองในโทรอนโท แต่คล้ายกันทั่วโลก อย่างน้อยสิ่งหนึ่งก็คือ พวกเขารู้สึกว่าไม่ปลอดภัยที่จะให้ลูกเดินไปโรงเรียนด้วยตนเอง
แต่การที่ผู้ปกครองขับรถยนต์ส่งลูกไปโรงเรียนนี้กลับทำให้ลูกๆ ของพวกเขาพลาดที่จะได้รับประโยชน์อย่างน้อยสี่ประการจากการเดินไปโรงเรียน
ประการแรก การเดินช่วยปรับปรุงผลการเรียน เด็กที่เดินไปโรงเรียนจะมาถึงโดยมีสมองที่แจ่มใสและตื่นตัวสำหรับชั้นเรียนช่วงเช้ามากกว่าเด็กที่นั่งรถส่วนตัวมา กระทรวงคมนาคมขนส่งอังกฤษทำการสำรวจพบว่า ครูเก้าในสิบคนยืนยันว่าเด็กนักเรียนของพวกเขาพร้อมที่จะเรียนมากกว่ามากหากเดินมาโรงเรียน การเดินช่วยลดความเครียดและเพิ่มความสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจัยทั้งสองนี้ช่วยการเรียนของเด็กที่โรงเรียน
ประการที่สอง การเดินช่วยให้เด็กมีประสบการณ์ชีวิตที่ดี การเดินไปโรงเรียนเปิดโอกาสให้เด็กๆ มีอิสระ คิดอย่างรับผิดชอบ และตัดสินใจได้ด้วยตนเอง มีนักเขียนท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “การเดินเป็นการสะท้อนว่าเรารู้สึกอย่างไรต่อสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่” เด็กๆจะเรียนรู้ที่จะรักเมืองของพวกเขามากขึ้นหากพวกเขาได้รู้จักเมืองจากการย่ำเท้าของตน เด็กบางคนรู้สึกเป็นกังวลน้อยลงเกี่ยวกับการที่ต้องใช้เวลาทั้งวันไปอยู่ที่โรงเรียนเมื่อพวกเขารู้ว่าจะกลับบ้านได้อย่างไร การเรียนรู้เส้นทางระหว่างบ้านกับโรงเรียนทำได้ยากกว่ามากจากมุมมองของเด็กที่นั่งรถยนต์ ถ้าเด็กยังเล็กหรือไม่โตพอ วิธีการก็คือให้เด็กเดินเป็นกลุ่มกับเพื่อนหรือญาติ พ่อแม่เด็กจัดเป็นเวรผลัดกันไปรับเด็กจากบ้านหลังต่างๆ ในย่านชุมชนเดียวกันและเดินเป็นเพื่อนเด็กๆ ไปโรงเรียน
ประการที่สาม การเดินทำให้เด็กได้อยู่กลางแจ้ง จากการศึกษาของริชาร์ด ลูฟ ที่เขียนออกมาเป็นหนังสือชื่อ “เด็กคนสุดท้ายในป่า” พบว่าทุกวันนี้เด็กจำนวนมากไม่ได้ใช้เวลาอยู่นอกบ้านเพียงพอ เวลาสั้นๆ ที่เด็กใช้เดินไปโรงเรียนสามารถให้แรงบันดาลใจกับเด็กได้ เด็กคนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์ในการศึกษาของมหาวิทยาลัยโทรอนโทอธิบายการเดินทางของเขาไว้ดังนี้ “นี่เป็นทางที่ผมเดิน จริงๆแล้วมันอยู่ในป่าเล็กๆ ที่มีต้นไม้ทั้งใหญ่ทั้งสูงอยู่สองข้าง ยอดเยี่ยมอลังการมาก” เด็กให้ความสนใจกับสภาพที่อยู่รอบตัวพวกเขา และสนุกสนานเฮฮาในทางที่ผู้ใหญ่ไม่ทำกัน
ประการที่สี่ การเดินทำให้เด็กได้ออกกำลังกายประจำวัน การมีน้ำหนักเกินและสภาวะอ้วนเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้นทุกทีทั่วโลก ดังนั้นการทำให้กิจกรรมทางกายกลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของเด็กเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการต่อสู้กับหนึ่งในปัจจัยสำคัญสี่อย่างที่นำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Disease – NCD) ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกกว่าร้อยละ 30 ทุกวันนี้ (ปัจจัยอีกสามอย่างคือ การกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ การใช้ยาสูบ และ การใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป) นอกจากนั้นกรมการศึกษาของรัฐบาลรัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกายังพบว่า เมื่อเด็กมีร่างกายที่ฟิตมากขึ้น ผลการเรียนของพวกเขาก็ดีขึ้นตามไปด้วย
ประโยชน์อย่างน้อยสี่ประการจากการเดินไปโรงเรียนและกลับบ้านเช่นนี้เองที่ทำให้หลายประเทศคิดโครงการขึ้นมารณรงค์ส่งเสริมให้เด็กเดินไปโรงเรียน อังกฤษน่าจะเป็นชาติแรกที่บุกเบิกในเรื่องนี้โดยเริ่มโครงการเดินปลอดภัยไปโรงเรียนในปี พ.ศ. 2538 มีโรงเรียนในจังหวัดฮาร์ทฝอร์ดเชียร์เข้าร่วมห้าโรงเรียน และขยายออกไปเรื่อยจนขณะนี้มีเด็กกว่า 2 ล้านคนเข้าร่วมการรณรงค์เดินไปโรงเรียนแห่งชาติทุกปี ในแคนาดา Canada Walks ซึ่งเป็นส่วนงานหนึ่งของ Green Communities Canada เป็นองค์กรหลักที่จัดให้มีโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเดิน และในปี 2539 ก็ได้เริ่มทำโครงการ Green Communities Active & Safe Routes to School เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทั่วประเทศมีเส้นทางที่ปลอดภัยสำหรับเดินและขี่จักรยานไปโรงเรียน
ในสหรัฐอเมริกา คนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันเป็น Partnership for a Walkable America หรือแปลเป็นไทยตรงๆได้ว่า “หุ้นส่วนเพื่ออเมริกาที่เดินได้” ได้ริเริ่มประกาศให้มี “วันแห่งการเดินไปโรงเรียนสากล” (International Walk to School Day) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2540 โดยกำหนดให้ตรงกับวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันแห่งการเดินไปโรงเรียนสากลด้วยความมุ่งหมายที่จะทำให้สาธารณะชนทั่วไปตระหนักถึงประโยชน์อันมากมายที่ได้จากการให้เด็กเดินไปโรงเรียน 18 ปีผ่านไป แนวคิดนี้ได้ขยายตัวออกไป มีการรับไปปฏิบัติกับโรงเรียนหลายพันแห่งในสหรัฐอเมริกาและไม่น้อยกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ความนิยมและผลสำเร็จของการเดินไปโรงเรียนทำให้หลายแห่งขยายจำนวนวันของการรณรงค์ออกไปเป็นทั้งเดือน โดยประกาศให้เดือนตุลาคมเป็น “เดือนแห่งการเดินไปโรงเรียน” ส่วนโครงการเส้นทางปลอดภัยไปโรงเรียนแบบในอังกฤษและแคนาดาเริ่มต้นในปี 2549 และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางเพื่อ กระตุ้นและทำให้เด็กๆ สามารถเดินและขี่จักรยานไปโรงเรียนได้สะดวกและปลอดภัย ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เด็กๆ มีสุขภาพดี แต่ยังการลดการจราจรที่ติดขัดและมลพิษทางอากาศในบริเวณโรงเรียนอีกด้วย นอกจากนั้นโครงการยังหวังผลระยะยาวคือ การเดินจะกลายเป็น “นิสัย” ติดตัวพวกเขาไปจนเป็นผู้ใหญ่
เท่าที่ทราบยังไม่มีการนำเอาแนวคิดเหล่านี้มาใช้ในประเทศไทย เรามา เริ่มโครงการและกิจกรรมต่างๆ ในการกระตุ้น ส่งเสริม และสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กๆ ของเราเดินไปโรงเรียนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย อาจจะเริ่มจากสัปดาห์ละหนึ่งวันก่อนก็เป็นไปได้ และตั้งเป้าทำให้ 8 ตุลาคม 2559 ถูกระบุไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นวันแรกของ “วันแห่งการเดินไปโรงเรียนไทย” ดีไหมครับ
——————————————————————————————————————————————————————————————-
กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เรียบเรียงจาก 4 ways that walking to school can benefit kids โดย Katherine Martinko และ Do Your Kids Walk to School? October is Walk to School Month โดย Andrea Donsky ใน www.treehugger.com/