Home / Articles / เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากความสำเร็จของบรอมตัน

เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากความสำเร็จของบรอมตัน

เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากความสำเร็จของบรอมตัน

จักรยานบรอมตันทุกคันทำด้วยมือในโรงงานที่กรุงลอนดอน

ใช่แล้วครับ บรอมตัน จักรยานพับสัญชาติอังกฤษที่หลายคนยกย่องว่าเป็นจักรยานที่มี “ระบบการพับ” ที่ดีที่สุดในโลก ไม่ว่าจะมีจักรยานพับเกิดขึ้นใหม่อีกหลายสัญชาติหลายยี่ห้อก็ตาม  จากที่ก่อนหน้านี้ พิพิธภัณฑ์การออกแบบของอังกฤษได้เลือกบรอมตันเป็นหนึ่งในจักรยานสี่รุ่นสี่ยี่ห้อของอังกฤษที่โดดเด่นในฐานะที่เป็น งานศิลป์เป็นนวัตกรรมการออกแบบที่สวยงาม สร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ (อ่านบทความเรื่อง “จักรยานคืองานศิลป์ คือนวัตกรรมการออกแบบที่สร้างแรงบันดาลใจ” ที่ http://www.thaicyclingclub.org/article/detail/7030)  โครงการความริเริ่มการใช้จักรยานเพื่อความเติบโต (Cycling for Growth Initiative) ของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (ECF) ยังได้ยกย่องให้บรอมตันเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นว่าการใช้จักรยานสามารถช่วยสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง

นายแอนดรูว์ ริทชี่ สร้างจักรยานบรอมตันคันแรกขึ้นในลอนดอนเมื่อปี พ.ศ. 2519แต่มาเริ่มผลิตจริงจังเป็นจำนวนมากอีกสิบปีต่อมาในโรงงานเล็กๆ ใต้สะพานโค้งทางรถไฟที่เบรนท์ฟอร์ดอาร์ชส ก่อนจะย้ายยังโรงงานในปัจจุบันที่คิวบริดจ์ซึ่งก็ยังอยู่ในลอนดอนเมื่อปี 2541 วิล บัทเลอร์-อดัมส์เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการในปี 2551 และจากนั้นผลประกอบการของบริษัทก็โตพรวดพราด 17 เท่าจาก 1.7 ล้านปอนด์มาเป็น 30 ล้านปอนด์ในเวลาเพียง 7 ปี และจ้างคนงานเพิ่มจาก 25 คนในปี 2545 มาเป็น 230 คนในปัจจุบัน  จนบรอมตันเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกจักรยานรายใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ส่งออกร้อยละ 80 ของจักรยานที่ผลิตได้ทั้งหมดในแต่ละปี   ในปี 2558 บรอมตันได้รับรางวัลสำหรับวิสาหกิจการค้าระหว่างประเทศของสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษจากความสำเร็จของยอดการส่งออกไป 43ประเทศทั้งในอเมริกาใต้ ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และเอเชีย นับแต่ปี 2553 เป็นต้นมา

บรอมตันประสบความสำเร็จมากมายเช่นนี้ได้อย่างไร  ส่วนหนึ่งมาจากการมีวิสัยทัศน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของบริษัทซึ่งนายบัทเลอร์-อดัมส์อธิบายว่า บรอมตันมองตัวเองว่าไม่ได้เป็นแค่บริษัทผลิตจักรยาน แต่เป็นผู้เสนอทางออกสำหรับการขนส่งที่ทำได้อย่างยืดหยุ่นเพื่อตอบรับการเดินทางที่มีมากมายในเขตเมืองในศตวรรษที่ 21  การที่ความหนาแน่นของประชากรในเขตเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกทำให้เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลต่างๆ ไม่สามารถลงทุนมหาศาลมาจัดทำโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเดินทางขนส่งที่พึ่งพารถยนต์ให้เพียงพอและยั่งยืนได้ และจักรยานพับจะเข้ามาเป็นคำตอบมีบทบาทสำคัญในการเดินทางขนส่งในเมือง เพราะสามารถใช้ควบคู่กับระบบขนส่งมวลชน นำขึ้นรถประจำทางหรือพาหนะในระบบรางได้สะดวก เป็นการขยายขอบเขตการใช้งานออกไปจากการเดินทางระยะสั้นที่เป็นระยะทำการสบายๆ ตามปกติของจักรยาน

แต่บรอมตันคิดไกลไปกว่านั้นออกมาเป็นยุทธศาสตร์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ไม่มีใครทำมาก่อน นั่นคือจัดให้มี ระบบเช่าจักรยานบรอมตัน”  สมาชิกของระบบนี้สามารถเช่าจักรยานบรอมตันออกไปและเอามาคืนได้ที่อู่ของบรอมตันทั่วประเทศอังกฤษ ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะเช่านานเท่าใด ด้วยค่าเช่าที่ถูกมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่อังกฤษ นั่นคือวันละ 2.50 ปอนด์ หรือราว 125 บาทเท่านั้น  หลังจากทำการทดลองประสบความสำเร็จที่สถานีรถไฟวอเตอร์ลู ก็เปิดให้เช่าครั้งแรกเมื่อปี 2554 ที่สถานีรถไฟกิลฟอร์ด และมีผลกระทบโดยตรงในทันทีกับการเดินทางในลอนดอน  ตอนนี้มีการเพิ่มจำนวนอู่มากขึ้นเป็นกว่า 40 แห่งที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั่วอังกฤษ  ต้นทุนที่ต้องใช้ในการติดตั้งและดำเนินการอู่จักรยานของบรอมตันนี้ไม่ถึงร้อยละ 10 ของต้นทุนของระบบจักรยานเช่าหรือระบบจักรยานสาธารณะที่ติดตั้งกันมาโดยทั่วไป

อู่จักรยานบรอมตัน (ภาพโดยบรอมตัน)

ข้อเด่นอีกประการหนึ่งที่ทำให้ ECF ยกย่องบรอมตันคือการที่ยังเป็นจักรยานที่ทุกส่วน (ซึ่งบรอมตันทั้งคันประกอบด้วยชิ้นส่วนมากกว่า 1,200 ชิ้น) รวมทั้งเฟรม ทำด้วยมือและทำในอังกฤษ(หรือจะพูดให้แคบเฉพาะเจาะจงลงไปก็ได้ว่า “ทำในลอนดอน”) ต่างจากผู้ผลิตจักรยานในหลายประเทศของแผ่นดินใหญ่ยุโรปที่จักรยานพะยี่ห้อยุโรปแต่ทำในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ไต้หวัน  ทุกวันนี้จักรยานบรอมตันคันใหม่หนึ่งคันจะสำเร็จออกมาจากสายการผลิตทุกสามนาที ซึ่งทำให้ ECF ให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะได้ทำการส่งเสริมการใช้จักรยานควบคู่ไปกับการรักษาฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมและการจ้างงานของจักรยานสายพันธุ์ยุโรปเอาไว้ในยุโรป

บรอมตันรู้ว่าการจะทำเช่นนี้ได้จำเป็นจะต้องก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลาให้ทันกับการแข่งขัน โดยมีทีมวิจัยและพัฒนา 15 คน ที่คิดค้นปรับปรุงคุณภาพของชิ้นส่วนจักรยานต่างๆ อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งค้นคว้าการใช้วัสดุใหม่ๆ เช่น ไททาเนียม มาทำจักรยานบรอมตัน  มีอย่างหนึ่งที่บรอมตันไม่ยอมเปลี่ยนคือ การรักษาความสมบูรณ์แบบและมาตรฐานคุณภาพของจักรยานไว้ที่ระดับสูงด้วยความซื่อสัตย์  มีนวัตกรรมการสร้างสรรค์ และเทคนิคการผลิตชั้นสูง ให้ยึดครองจิตใจของผู้ใช้จักรยาน  บรอมตันเชื่อว่านี่เป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จของอุตสาหกรรมจักรยานในยุโรป

ขณะนี้บรอมตันได้เริ่มโครงการพัฒนาจักรยานใหม่ขึ้นมาด้วยความร่วมมือกับบริษัทวิลเลียมส์ แอดวานซ์ เอ็นจิเนียริง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทวิลเลียมส์ ผู้สร้างรถแข่งสูตรหนึ่งสัญชาติอังกฤษที่มีชื่อเสียง  ความมุ่งหมายของโครงการนี้คือการออกแบบและผลิตจักรยานไฟฟ้าที่พับได้และมีน้ำหนักเบา ซึ่งจะเป็นการปฏิวัติเปิดหน้าใหม่ของวงการจักรยาน

  

ภายในโรงงานผลิตจักรยานของบรอมตันที่คิวบริดจ์ ชานเมืองลอนดอน

นอกจากการมีนวัตกรรมใหม่ในรูปจักรยานพับไฟฟ้าแล้ว เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บรอมตันวางแผนจะเพิ่มยอดการผลิตเป็นสองเท่าในอีกห้าปีข้างหน้า โดยจะย้ายฐานการผลิตในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2559 นี้ไปที่โรงงานใหม่ที่กรีนฟอร์ด ทางตะวันตกของกรุงลอนดอน ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโรงงานปัจจุบันเกือบสองเท่า

อย่างไรก็ตาม บรอมตันไม่ได้มีภาพลวงตาว่าการเติบโตของการผลิต-ขายจักรยาน ซึ่งขึ้นกับการเติบโตของการใช้จักรยาน จะเกิดขึ้นได้เองตามลำพังด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และความสามารถในทางธุรกิจการตลาดของบรอมตันและผู้ผลิตจักรยานทั้งหลาย  นายบัทเลอร์-อดัมส์ยืนยันว่า สถานการณ์การเติบโตเช่นนั้นจะเป็นไปได้ก็ต่อรัฐบาลทุกระดับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมสำหรับการใช้จักรยานและระบบขนส่งสาธารณะที่หลากหลาย เชื่อมโยง และเอื้อต่อการใช้จักรยานขึ้นมาควบคู่กันไปพร้อมๆ กัน

านๆ เราจะได้ข่าวบทบาทของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ผลิตจักรยาน ในการส่งเสริมการใช้จักรยาน  บรอมตันจับทิศทางการเติบโตของการใช้จักรยานล่าสุดได้ชัดเจนว่ามีจักรยานไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญ  ตัวเลขการขายจักรยานใหม่ในหลายประเทศของยุโรปและจีนที่ขณะนี้จักรยานไฟฟ้าแซงหน้าจักรยานที่ใช้กำลังของคนขี่ไปแล้วบ่งบอกทิศทางนี้ชัดเจน   แอลเอไบซิเคิล ผู้ผลิตจักรยานรายใหญ่สุดของไทยและส่งออกจำนวนมาก ก็ผลิตจักรยานไฟฟ้าออกมาขายทั่วไปแล้วหลายปี โดยปัจจุบันมีมากถึง 9 รุ่นตามข้อมูลล่าสุดในเว็บไซต์ของบริษัท   บทบาทต่อไปของแอลเอไบซิเคิลที่เราอยากเห็นคือ การออกมาชี้เช่นเดียวกับบรอมตันว่า อุตสาหกรรมการผลิตจักรยานและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับจักรยานในไทย จะเติบโต มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้มากยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกมากหากรัฐไทยทุกระดับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมสำหรับการใช้จักรยานและระบบขนส่งสาธารณะที่หลากหลาย เชื่อมโยง และเอื้อต่อการใช้จักรยานขึ้นมาควบคู่กันไปพร้อมๆ กัน

——————————————————————————————————————————————————————————————

กวิน ชุติมา เก็บความจาก Brompton Bicycles, an unfolding UK success story! เขียนโดย Nicola Urien ใน ECF Newsletter 11.01.2016

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

Leave a Reply

Your email address will not be published.