Home / Articles / อะไรอยู่เบื้องหลังวัฒนธรรมการใช้จักรยานในมหานครโตเกียว

อะไรอยู่เบื้องหลังวัฒนธรรมการใช้จักรยานในมหานครโตเกียว

อะไรอยู่เบื้องหลังวัฒนธรรมการใช้จักรยานในมหานครโตเกียว

                                                                                                                                             © Streetflim/Vimeo

เมื่อพูดถึง “เมืองจักรยาน” เรามักจะมองไปไกลถึงเมืองอัมสเตอร์ดัมหรือโคเปนเฮเกนในทวีปยุโรป น้อยคนจะมองมาที่ประเทศที่อยู่ใกล้เข้ามาในทวีปเอเชียของเรา และแทบจะไม่มีใครพูดถึงมหานครโตเกียว ซึ่งเป็น “เขตเมือง” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรถึง 35 ล้านคนทราบไหมครับว่า ร้อยละ 14 ของการเดินทางทั้งหมดในแต่ละวันในโตเกียวทำด้วยจักรยานซึ่งถ้าคิดออกมาเป็นเที่ยวการเดินทางก็จะเป็นจำนวนมหาศาล และสัดส่วนร้อยละ 14 นี้มากกว่าเมืองหลวงส่วนใหญ่ของประเทศในทวีปยุโรปและจะว่าไปก็ในโลกด้วย และชาวโตเกียวใช้จักรยานเป็นวิธีการเดินทางในชีวิตประจำวันกันมากมายเช่นนี้โดยที่มีทางจักรยานเฉพาะทั้งเมืองเพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้น

ถ้าไม่ใช่การมี “ทางจักรยาน” แล้วอะไรคือความลับเบื้องหลังการที่ชาวโตเกียวใช้จักรยานกันมากมายเช่นนี้ บางคนบอกว่าอยู่ที่การสามารถขี่จักรยานบนทางเท้าได้ และทางเท้าในเมืองที่ญี่ปุ่นก็กว้างขวางขี่จักรยานได้สบาย ซึ่งก็ชี้ไปที่การมีโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนึ่งอย่างใดมารองรับการใช้จักรยานอยู่ดี  ก็ต้องบอกตรงนี้เลยว่า ไม่ใช่ครับ  การที่ชาวโตเกียวใช้จักรยานกันมากมาจนถึงทุกวันนี้ไม่ได้เกิดจากโครงสร้างพื้นฐาน แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการขี่จักรยานบนทางเท้ากันมากก็ตาม (ตอนนี้ก็มีกฎระเบียบออกมากำกับการใช้จักรยานบนทางเท้าชัดเจนแล้ว ตอนที่มีการถ่ายทำวิดิทัศน์ที่ท่านดูได้จาก url ข้างล่างนี้ กฎระเบียบนี้ยังไม่ออกมา)

ถ้าเช่นนั้น ปัจจัยของความสำเร็จคืออะไร ในวิดิทัศน์ชื่อจิตวิญญาณกามัง: เหตุผลที่คนโตเกียวใช้จักรยาน” The Gaman Spirit: Why Cycling Works in Tokyo  (https://vimeo.com/157120644) ที่ผลิตโดย Streetfilms  ผู้ผลิตวิดิทัศน์เกี่ยวกับการเดินทางในเมือง โดยเฉพาะด้วยจักรยาน ไบรอน คิดด์ ที่ปรึกษาด้านการใช้จักรยานในเมืองจาก Tokyo By Bike ซึ่งไปใช้ชีวิตอยู่ในโตเกียวมากว่าสิบปีแล้วอธิบายว่า (ในโตเกียวก็เช่นเดียวกับนครใหญ่ที่การจราจรคับคั่งทั้งหลาย) มีเหตุผลหรือปัจจัยหลายประการที่ทำให้ชาวโตเกียวใช้จักรยานกันมาก

ประการแรก การใช้จักรยานเป็นวิธีการเดินทางที่สะดวกที่สุด เร็วที่สุด เร็วกว่ารถไฟฟ้า และที่แน่ๆ เร็วกว่ารถยนต์   

ประการต่อมาคือ ใครๆก็ใช้จักรยาน ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ  คนส่วนใหญ่ขี่จักรยานด้วยเสื้อผ้าธรรมดาๆ ที่เราใส่ไปไหนมาไหนเวลาออกนอกบ้านไปทำงาน ไปเรียน หรือไปทำธุระทั่วไปใดๆ  การขี่จักรยานไม่ใช่เป็นแค่กีฬาของคนรวยที่ต้องมีจักรยานคุณภาพสูงราคาแพงๆ ต้องใส่ชุดแนบตัวทำจากไลคราและสวมหมวกนิรภัย  ชาวโตเกียวไม่ได้ขี่จักรยานเพื่อออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดีเป็นการเฉพาะ ไม่ได้ขี่จักรยานเพื่อลดโลกร้อน รักษาสิ่งแวดล้อมหรือประหยัดพลังงาน แต่เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเดินทางไปไหนมาไหน มันเป็นสิ่งธรรมดาที่พวกเขาทำกันจนไม่ได้คิดว่าออกไปขี่จักรยานเพื่อทำโน่นทำนี่ แต่การใช้จักรยานเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน (ซึ่งเป็นคำตอบเดียวกันกับที่ชาวดัทช์จะให้เมื่อถูกถามเรื่องการใช้จักรยาน)

ถึงโตเกียวจะเป็นมหานคร แต่ความเป็นชุมชน เป็นเขตย่าน ยังดำรงอยู่เป็นอันมาก และชุมชนหรือเขตย่านเหล่านี้มีขนาดกะทัดรัดและเกือบจะมีสิ่งที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันโดยพื้นฐานสมบูรณ์พร้อมอยู่ในตัวเองมีโรงเรียนประถมและโรงเรียนมัธยม ตลาด-ร้านขายสินค้าแทบทุกอย่าง ที่ทำการไปรษณีย์ ธนาคาร สถานีตำรวจ ร้านหมอ ฯลฯ ที่สามารถเดินหรือขี่จักรยานไปได้อย่างสบายโดยไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์  อีกทั้งการเป็นเจ้าของรถยังมีค่าใช้จ่ายสูงมากโดยเฉพาะค่าจอดรถ และยังมีความไม่สะดวกตามมาอีกหลายอย่าง

เมื่อแทบจะไม่มีโครงสร้างพื้นฐานมารองรับเป็นการเฉพาะ ผู้ใช้จักรยานก็ได้รับอนุญาตให้ขี่บนทางเท้าได้  ในหลายประเทศ การทำเช่นนี้นำไปสู่ความขัดแย้งและปัญหาระหว่างคนเดินเท้ากับผู้ใช้จักรยาน กลายเป็นประเด็นทางสังคม(อย่างเช่นที่เกิดอยู่ในสิงคโปร์ขณะนี้) แต่ในโตเกียว ที่ผ่านมาคนสองกลุ่มนี้จะใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างค่อนข้างจะสงบสันติ เพิ่งจะเริ่มมีปัญหาเมื่อเร็วๆนี้เอง

สิ่งที่วิดิทัศน์นี้ชี้ว่าเป็นปัจจัยแท้จริงที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโตเกียวคือ จิตวิญญาณ “กามัง”  การจะทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้ให้สำเร็จ โดยไม่บ่นคร่ำครวญไม่หวาดหวั่น ซึ่งเรามองเห็นอยู่ได้เป็นอันมากในคนญี่ปุ่น  ดังนั้นไม่ว่าอะไรจะมีปัญหา มีอุปสรรค ก็ไม่เป็นไร ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออก จะต้องเผชิญกับรถยนต์เมื่อใช้ถนนร่วมกัน เมื่อจะใช้จักรยานเสียอย่างก็ขี่ไป (ในวิดิทัศน์ ผู้ใช้จักรยานบอกว่ายังรู้สึกว่าอันตรายเมื่อขี่บนถนน แต่สถานการณ์ก็ดีขึ้นมากในระยะหลังนี้)

ผู้ผลิตวิดิทัศน์เรื่องนี้สรุปว่า ดังนั้นหากจะมีอะไรสักอย่างที่คนทั้งโลกจะเรียนรู้ได้จากการใช้จักรยานในโตเกียว สิ่งนั้นก็น่าจะเป็นจิตวิญญาณกามัง ที่แปลตรงๆ ว่า “อดทน”  และสำหรับในโตเกียวแล้ว ดูเหมือนว่าจิตวิญญาณกามังยังหมายถึงการที่ทุกคนไปด้วยกันได้ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ใช้จักรยาน คนเดินเท้า หรือคนขับรถก็ตาม ใช้ความระมัดระวังให้ต่างคนต่างไปให้ถึงจุดหมายปลายทางเป็นใช้ได้

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะศาสตราจารย์ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานและผู้ก่อตั้ง ได้กล่าวย้ำเตือนใจเสมอในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาว่า ทางจักรยานไม่ใช่คำตอบสุดท้าย– ความสำเร็จของการส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปใช้จักรยานในชีวิตประจำวันไม่ได้เกิดขึ้นด้วยการมีทางจักรยานเพียงอย่างเดียวหรือเสมอไป” การก่อสร้างทางจักรยานด้วยความรู้ทางเทคนิคทางวิศวกรรมไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของคนให้มาใช้จักรยาน การสร้างวัฒนธรรมการใช้จักรยาน(อย่างที่เห็นได้ว่ามีอยู่ในมหานครโตเกียว) เป็นสิ่งจำเป็น และทำได้ยากกว่ามาก

——————————————————————————————————————————————————————————————-

กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เขียนจาก The magical mystery behind Tokyo’s successful cycling culture โดย Melissa Breyerใน treehugger.com

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

Leave a Reply

Your email address will not be published.