Home / Articles / เมืองที่น่าเดินเป็นอย่างไร

เมืองที่น่าเดินเป็นอย่างไร

%e0%b8%8b%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%b8%e0%b8%a3%e0%b8%b0

เดินใต้ร่มเงาซากุระบาน (ภาพโดย Lloyd Alter)

การทำให้เมือง “น่าเดิน” คนในเมืองเดินมากๆ กลายเป็นประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนและองค์กรที่ทำงานหลายด้าน เนื่องจากการเดิน โดยเฉพาะการใช้การเดินเป็นวิธีเดินทางไปไหนมาไหนเพื่อประกอบกิจในชีวิตประจำวัน เช่น ไปทำงาน ไปเรียน ไปจับจ่ายซื้อของ ฯลฯ ให้ผลดีทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ด้านคมนาคมขนส่ง ด้านสิ่งแวดล้อม  และแม้แต่ด้านเศรษฐกิจ แล้วทำอย่างไรเล่า เมืองจึงจะ “น่าเดิน” จึงมีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ออกมามากขึ้นเรื่อยเช่นเดียวกัน  ขอนำการศึกษาใหม่ชิ้นหนึ่งมาเล่าสู่กันฟัง

ศาสตราจารย์ เจมส์ เอฟ ซาลลิส กับคณะผู้ทำการศึกษาชิ้นนี้ ใช้วิธีการที่ทันสมัย ซับซ้อน และละเอียด มากขึ้นกว่าการศึกษาครั้งก่อนๆ ที่ทำกัน ด้วยการใช้เครื่องติดตามการออกกำลังกายอิเล็กโทรนิก กับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ สอดส่องติดตามพฤติกรรมของผู้ใหญ่ 6,822 คนในเมืองใหญ่ 14 แห่งใน 10 ประเทศ  ข้อมูลที่เก็บมาได้ทำให้เขาสามารถเปรียบเทียบปริมาณการมีกิจกรรมทางกาย/การออกกำลังกายของผู้เข้าร่วมการศึกษาแต่ละคน กับข้อมูลการใช้ที่ดินในละแวกบ้านที่อยู่ติดกันของผู้เข้าร่วมการศึกษาแต่ละคน  จากนั้นพวกเขาใช้การวิเคราะห์ทางสถิติมาพิจารณาว่า มีลักษณะเฉพาะของการใช้ที่ดินอย่างใดบ้างไหมที่มีความสัมพันธ์อย่างสำคัญกับการมีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางไปจนถึงระดับแข็งขัน   ผลที่ได้ออกมาน่าสนใจ คือพวกเขาพบปัจจัยสี่ประการที่สำคัญเป็นพิเศษ  ปัจจัยทั้งสี่นี้ยิ่งมีมาก คนก็จะเดินมากขึ้นตามไปด้วย

  1. ความหนาแน่นของที่อยู่อาศัย: จะต้องมีบ้านพักหรือที่อยู่อาศัยมากถึงจำนวนหนึ่งในละแวกย่านจึงจะมีประชากรมากพอที่ร้านค้าและสถานที่ให้บริการด้านต่างๆ จะดำรงอยู่ได้ในทางเศรษฐกิจภายในระยะที่เดินถึง
  2. ความหนาแน่นของจุดตัดของทาง: การมีถนน/ทางที่เชื่อมต่อกันเป็นอย่างดีมักจะทำให้ระยะทางที่ต้องใช้ในการเดินทางสั้นลง และทำให้สถานที่ที่เป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางอยู่ในระยะที่เดินถึงได้
  3. ความหนาแน่นของขนส่งสาธารณะ: ยิ่งมีจุดที่จอดรับ-ส่งผู้โดยสารของขนส่งสาธารณะ(รถประจำทาง รถไฟฟ้า ฯลฯ)ในระยะที่เดินถึงมากเท่าใด ผู้อยู่อาศัยในย่านนั้นก็จะมีทางเลือกในวิธีการเดินทางมากขึ้น และเลือกที่จะใช้วิธีเดินและขนส่งสาธารณะนั้นมากขึ้น
  4. การเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ: สวน พื้นที่สีเขียว จัตุรัส และพื้นที่ว่างต่างๆ ที่เป็นพื้นที่สาธารณะ ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ให้คนได้ออกกำลังกาย ได้พักผ่อนหย่อน แต่ยังเป็นสถานที่ให้ชุมชนหรือละแวกบ้านทำกิจกรรมร่วมกันเป็นสังคมได้อีกหลากหลายด้วย  เมื่อมีพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นในระยะที่เดินถึง คนก็จะไปใช้ เดินมากขึ้น และได้มีกิจกรรมทางกาย/ออกกำลังกายขณะที่เดินไปด้วย

ดังนั้นหากจะให้เมืองหนึ่งๆ “น่าเดิน” คนในเมืองนั้นเดินมากขึ้น หน่วยงานที่วางผังเมืองในภาพรวมต้องทำงานร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยงานด้านการจัดสร้างที่อยู่อาศัย หน่วยงานด้านการคมนาคมขนส่ง ฯลฯ ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางกายภาพของเมืองให้มีปัจจัยทั้งสี่เหล่านี้

 

กวิน ชุติมา  กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และกรรมการ-เหรัญญิกสถาบันการเดินและการจักรยานไทย

Comments

comments

Check Also

ขนาดนักจักรยานแชมป์โลก แชมป์โอลิมปิกยังสนใจ เรื่องจักรยานชาวบ้าน