Home / Articles / สถานการณ์และข้อเท็จจริงอันเป็นปัจจัยสำคัญต่อโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย : ความทรงจำดีๆ (1)

สถานการณ์และข้อเท็จจริงอันเป็นปัจจัยสำคัญต่อโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย : ความทรงจำดีๆ (1)

ความทรงจำดีๆ

       ผู้ใหญ่ทุกคนมักมีความทรงจำดีๆในอดีตหลายๆเรื่องต่อชีวิตในวัยเด็กและวัยรุ่น ที่ยังคงฝังตรึงอยู่ไม่ลืม เมื่อกล่าวถึงทีไร ก็มักชื่นชมในความสุข-สนุกสนานอย่างมีคุณค่าเหล่านั้น อยากให้เหตุการณ์หวนกลับคืนมาใหม่ แต่แล้วผู้ใหญ่ก็มักยอมจำนนว่า เป็นเรื่องเพ้อฝัน ที่จะได้ทำอะไรสนุกสนานแบบชีวิตในวัยเด็กอีก เพราะสถานการณ์วันนี้ “ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว…”
      ในความทรงจำของผู้เขียน เห็นคุณค่าของกิจกรรมสำคัญสองอย่าง ที่วันนี้ดูเสื่อมถอยด้อยค่า และจำเป็นที่ผู้ใหญ่ทุกระดับตั้งแต่ชุมชนท้องถิ่นถึงระดับประเทศ ต้องกลับมาร่วมพิจารณากันอย่างจริงจัง ถึงขั้นจะต้องทำให้เป็นวาระสำคัญระดับประเทศและระดับท้องถิ่น กิจกรรมสองอย่างนั้นได้แก่

    กิจกรรมลูกเสือ และกิจกรรมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน
กิจกรรมลูกเสือ มีคุณค่าสร้างเยาวชนให้เป็นพลเมืองดี แต่เมื่อเติบโตขึ้นมา ผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยก็ลืมการ “เป็นพลเมืองดี ตามวิถีลูกเสือ” กันไปแล้วจนเสียโอกาสดีๆซึ่งส่งผลไปถึงความยุ่งยากของประเทศชาติในทุกวันนี้ เฉพาะเรื่องนี้ต้องว่ากันอีกยาว จึงต้อขอข้ามไปก่อน……

    กิจกรรมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เป็นความทรงจำดีๆอีกอย่างหนึ่ง ที่ผู้ใหญ่ยอมรับว่ามีประโยชน์โดยเฉพาะการเดินทางในระยะใกล้ๆปานกลาง เช่นเดียวกับการเดินเท้า ที่ให้ประโยชน์มากมาย ทั้งการประหยัดค่าใช้จ่ายพลังงาน ลดมลภาวะในสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างสุขภาพอนามัยที่ดีช่วยให้ร่างกายแข็งแรง-ต้านทานโรคดีขึ้นจากการได้ออกกำลัง

วิถีโลกที่เปลี่ยนแปลง…วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป
แต่ทุกวันนี้ ความเจริญทางเทคโนโลยียานยนต์พาหนะทุกประเภท ได้เข้ามาคุกคามเบียดบังพื้นที่ของคนใช้จักรยาน และคนเดินถนนลงไปอย่างสิ้นเชิง เพียงจำนวนจักรยานยนต์และรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ทำให้ถนนเล็กและสั้นลงไปจนท้าทายผู้บริหารเมืองใหญ่น้อยทั่วโลกแล้ว
แม้แต่ในประเทศไทยเรา ปัญหาความแออัดของการจราจรในเมืองใหญ่ ที่ลุกลามไปยังหัวเมือง และใจกลางเมืองขนาดเล็ก โดยเฉพาะในเวลาเร่งด่วน ส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนจำนวนมาก เป็นปัญหาที่ผู้บริหารท้องถิ่นคนแล้วคนเล่า ต้องขบคิดแก้ไข แต่ก็ยังไม่อาจเอาชนะปริมาณยานยนต์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมหาศาลได้
ล่าสุดรายงานข่าวจากจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกำลังเกิดวิกฤติจราจรอย่างหนักเพราะประชาชนขาดแคลนระบบขนส่งมวลชน ส่วนใหญ่หันไปใช้จักรยานยนต์ซึ่งใช้เงินดาวน์เพียงไม่กี่ร้อยบาทก็เป็นเจ้าของได้ รถเมล์เล็กจำนวนมากที่ยังคงวิ่งรับผู้โดยสารก็ทำตัวเป็นแท็กซี่ที่เรียกราคาตามความพอใจ

           เมื่อผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์คุณแม่คนหนึ่ง ซึ่งขับรถยนต์ไปส่งลูกเล็กที่โรงเรียน ในระยะทางห่างจากบ้านเพียงประมาณ 1 กม. เธอเองคงไม่สะดวกที่จะเดินจูงลูก หรือขี่จักรยานไปส่งโรงเรียน แน่นอนครับ ใครที่จะชี้ชวนให้เธอทำเช่นนั้นคงต้องถูกโต้กลับอย่างรุนแรง ทั้งยังไม่อาจรับประกันได้ว่าเธอและลูกจะปลอดภัยจากรถยนต์หรือจักรยานยนต์ที่มีความเร็วสูงกว่าหลายเท่า
สถานการณ์นี้คือ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป หรือถูกทำให้เปลี่ยนไป ความเจริญทางเทคโนโลยีการขนส่งจราจร ช่วยให้คนเดินทางสู่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว แต่หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นแต่ละครั้งก็ก่อความสูญเสียมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน

เช่นเดียวกับความเคยชินของวัยรุ่นที่มักจะคว้ากุญแจจักรยานยนต์ประจำบ้าน เพื่อขับออกไปซื้อของกินที่ร้านหัวถนน หากจะเลยไปขับรถกินลมเล่นกับเพื่อนด้วยความเร็ว 80 -90 กม.ต่อชั่วโมง แล้วบังเอิญไปเกิดอุบัติเหตุก็อาจต้องนอนโรงพยาบาลเพราะโรค”มอเตอร์ไซค์ทำหล่น”ก็เป็นได้

        แม้แต่ในประเทศจีน ซึ่งเคยมีการใช้จักรยานนับสิบนับร้อยล้านคัน กลับมีปริมาณรถจักรยานยนต์และรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับเป็นสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เสื่อมถอยลงอย่างเห็นได้ชัด ตามกระแสความทันสมัยของสังคมของจีนเอง และยังมองไม่เห็นว่าจะไปลงเอยแบบใด แต่มีก็ยังมีหลายเมืองที่ออกกฎหมายท้องถิ่นห้ามจักรยานยนต์เข้าเมือง
ท่ามกลางปัญหาราคาพลังงานจากปิโตรเลียมที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และไร้จุดสิ้นสุด ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงเหล่านี้ก็กลับทบทวีทั่วโลก จนเป็นที่ห่วงใยว่าอีกไม่กี่ปีปิโตรเลียมจะหมดไปจากโลกทำให้ต้องเร่งแสวงหาพลังงานทางเลือก กันอย่างเร่งด่วน

       จึงเป็นเรื่องไม่แปลกที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการใช้จักรยาน “ในชีวิตประจำวัน”อย่างจริงจัง ถึงขั้นตั้งหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่มุ่งทำนโยบายนี้ให้เป็นรูปธรรม ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน และเมืองขนาดใหญ่บางเมืองปิดถนนใหญ่บางสายเพื่อคืนให้กับประชาชนได้ใช้จักรยานและเดินในวันอาทิตย์เพื่อกระตุ้นประชาชนให้เห็นความสำคัญในแง่มุมนี้ของวิถีชีวิต

โปรดติดตามตอนต่อไป >>>

ทันตแพทย์อนุศักดิ์  คงมาลัย
ประธานคณะกรรมการกำกับทิศเพื่อการผลักดันการใช้จักรยานฯ
รองประธาน ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
อดีตสมาชิกวุฒิสภาสรรหา 2551-2554

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

Leave a Reply

Your email address will not be published.