เรามาฟื้นฟูการใช้จักรยานขนส่งในไทยกันดีไหม
การใช้จักรยานย้ายบ้านในอัมสเตอร์ดัม (เครดิตภาพ Amsterdamized)
หลายคนคงมีความทรงจำถึงการใช้จักรยานเพื่อขนส่งสินค้าในไทย ขนน้ำแข็ง ขนข้าวสาร ขนผัก ฯลฯ แม้ทุกวันนี้จักรยานยนต์จะเข้ามาแทนจักรยานในการขนส่งไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่เราก็ยังเห็นการใช้จักรยานขนส่งอยู่ในย่านตลาดหลายแห่งโดยเฉพาะในหัวเมืองเล็กๆ ที่การจราจรยังไม่พลุกพล่านเท่าเมืองใหญ่ และในชนบท พูดได้ว่ารากหรือพื้นฐานของไทยในเรื่องนี้ยังไม่หมดหายไป ดังนั้นการฟื้นฟูการใช้จักรยานเพื่อการขนส่งไม่ใช่เรื่องยากสุดวิสัย โดยเฉพาะเมื่อกระแสการใช้จักรยานกำลังเติบโตขึ้นมาใหม่ในสังคมไทย หากได้รับการส่งเสริมสนับสนุน
ในยุโรป การใช้จักรยานเพื่อการขนส่งกำลังมีมานานแล้วและเป็นกระแสที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับการใช้จักรยานเพื่อการสัญจร จนเป็นหัวข้อหนึ่งที่มีการพูดคุยกันมากในเครือข่ายของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป(ECF) และคณะกรรมาธิการด้านการขนส่งของสหภาพยุโรป มีการส่งเสริมอย่างจริงจัง เช่น การจัดที่จอดจักรยานสำหรับจักรยานขนส่งเป็นการเฉพาะ (เพราะต้องการพื้นที่จอดมากกว่า) และในเมืองที่มีการใช้จักรยานมากๆ ก็มีช่องทางสำหรับจักรยานขนส่งเป็นการเฉพาะแล้วด้วย หลายเมืองในยุโรป รวมทั้งในอังกฤษ การขนส่งในย่านใจกลางเมืองทำด้วยจักรยานมากกว่ารถบรรทุกและรถยนต์ประเภทอื่นแล้ว
กลุ่มจักรยานขนส่งนครนิวยอร์กขณะปฏิบัติการ (เครดิตภาพ: NYC Cargo Bike Collective)
ในสหรัฐอเมริกาที่คนคุ้นเคยกับการใช้ยานยนต์ขนคนและสิ่งของต่างๆ นี่เป็นเรื่องฮือฮาทีเดียว แต่ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นจากกระแสความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมกับค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า ทำให้การตั้งกลุ่มหรือบริษัทขึ้นมาดำเนินการเรื่องนี้โดยเฉพาะไม่ใช่เป็นแค่ความฝันอีกต่อไป ในมหานครนิวยอร์กที่การจราจรวุ่นวายสุดๆนั้น คนกลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันตั้งเป็น “กลุ่มจักรยานขนส่งนครนิวยอร์ก” (New York City Cargo Bike Collective) รับขนสิ่งของทุกอย่างในเขตนครนิวยอร์กมาตั้งแต่ปี 2012 แล้ว รวมทั้งการย้ายบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขาได้ทำราวปีละ 5 ครั้ง การเติบโตของการใช้จักรยานขนส่งไปถึงขั้นที่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างนิวยอร์กไทม์สเอาไปเขียนบทความว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการใช้จักรยานที่กำลังเติบโตในมหานครแห่งนี้ ซึ่งสะท้อนกระแสสังคมใหม่ในโลกตะวันตกคือการมีแบบแผนการใช้ชีวิตคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืน เช่น การมีและอยู่ในที่พักอาศัยที่เล็กลง กินอาหารที่ผลิตเองหรือผลิตในท้องถิ่น ฯลฯ วิถีชีวิตเช่นนี้นำไปสู่การใช้ทรัพยากรน้อยลง มีหรือครอบครองสิ่งของต่างๆน้อยลง เมื่อจะโยกย้ายเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งในเมืองไม่ว่าจะด้วยความมุ่งหมายใดก็ทำได้ง่ายขึ้น นำไปสู่การใช้ชีวิตที่แทบจะทิ้งรถยนต์ส่วนตัวไปได้เลย ใช้แต่การเดิน จักรยาน และระบบขนส่งสาธารณะที่รัฐจัดมาให้บริการก็พอ
ผู้เขียนเชื่อว่า การฟื้นฟูให้มีการนำจักรยานมาใช้เพื่อการขนส่งในไทยก็เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากเกินไปเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อกระแสการใช้จักรยานกำลังเติบโตขึ้นมาใหม่ในสังคมไทย รวมทั้งในการสัญจรในชีวิตประจำวัน เรามีกลุ่ม Bikezenger ที่รับส่งจดหมายและพัสดุภัณฑ์เล็กๆ มีร้านขายเครื่องดื่มสุขภาพและร้านขายอาหารกล่องที่ส่งให้ลูกค้าด้วยจักรยานแล้ว ก็ไม่แปลกที่จะมีบริการรับส่งสินค้าขนาดใหญ่ขึ้นด้วยจักรยานสองล้อหรือสามล้อดัดแปลง รวมทั้งจักรยานที่ออกแบบมาเป็นจักรยานขนส่งโดยเฉพาะ เกิดขึ้นด้วย นี่เป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องท้องถิ่นควรพิจารณาส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในเมืองที่ประกาศตัวเองว่าเป็น “เมืองจักรยาน”
เขียนแล้วนึกถึงวันเวลาสมัยเด็กที่เคยไปยืนรับปิ่นโตอาหารที่มีคนขี่จักรยานมาส่งที่หน้าบ้านทุกวันจริงๆ ครับ
——————————————————————————————————————————————————————————————-
กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เขียนจากแนวคิดในบทความ Moving to a new house by bike in NYC: How we live empowers how we move โดย Sami Grover ใน treehugger.com
ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เป็นสมาชิกของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป และผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรการจักรยานโลก