Home / Articles / ยืนยันอีกครั้ง การขี่จักรยานและการเดินไปทำงานช่วยลดไขมัน

ยืนยันอีกครั้ง การขี่จักรยานและการเดินไปทำงานช่วยลดไขมัน

ยืนยันอีกครั้ง การขี่จักรยานและการเดินไปทำงานช่วยลดไขมัน

การขี่จักรยานและการเดินไปทำงานได้รับการยืนยันจากการศึกษาอีกครั้งหนึ่งว่ามีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับการมีระดับไขมันในร่างกายต่ำ  ความจริงก็มีการศึกษาคล้ายกันนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งนี้มีค่าควรแก่การนำมารายงานหรือบอกเล่า เนื่องจากเราอาจพูดได้เต็มปากว่าน่าเชื่อถือที่สุด เพราะเป็นการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำกันมาในโลกจนถึงปัจจุบัน คือใช้ข้อมูลจากคนมากกว่า 150,000คนที่เอามาจากชุดข้อมูลของธนาคารชีวภาพอังกฤษ (UK Biobank) ซึ่งทำการศึกษาเชิงสังเกตการณ์คนอายุ 40-60ปีในอังกฤษประมาณ 500,000คนอีกทีหนึ่ง  โดยนักวิจัยที่ London School of Hygiene and Tropical Medicine (วิทยาลัยสุขศึกษาและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน) เอาข้อมูลจำนวนมหาศาลนี้มาหาความเชื่อมโยงระหว่างประโยชน์ทางด้านสุขภาพของการเดินทางไปทำงานกับวิธีการที่ผู้เดินทางใช้ คือวิธีเดินทางทำให้ผู้เดินทางคนนั้นๆ มีกิจกรรมทางกายหรือได้ออกกำลังกาย อันได้แก่การขี่จักรยานและการเดิน รวมไปถึงการใช้ขนส่งสาธารณะ/ขนส่งมวลชนด้วย กับการขับรถยนต์ไปทำงาน

รายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร The Lancet Diabetes and Endocrinologyเปิดเผยว่า ผู้ชายที่ขี่จักรยานไปทำงานมีน้ำหนักน้อยกว่าคนที่ขับรถไปทำงาน 5 กิโลกรัม  ส่วนผู้หญิงความแตกต่างจะอยู่ที่ 4.4 กิโลกรัม  โดยที่คนๆ หนึ่งยิ่งขี่จักรยานหรือเดินไปทำงานมากขึ้นเท่าใด ร้อยละของไขมันในร่างกายก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น  โดยความเชื่อมโยงระหว่างวิธีการเดินทางไปทำงานกับอัตราการมีไขมันต่ำนี้เป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ สถานที่อยู่อาศัย(ชนบทหรือเมือง) ไม่ว่าพวกเขาจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะสูบบุหรี่หรือไม่ และไม่ว่าระดับการมีกิจกรรมทางกายทั่วไปจะเป็นอย่างไร  ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า แม้แต่การมีกิจกรรมทางกายในระดับต่ำจากการใช้ขนส่งสาธารณะก็สามารถมีผลกระทบทางบวกกับสุขภาพของคนๆหนึ่งได้ และคนที่เดินทางไปทำงานด้วยการขับรถยนต์ส่วนตัวเพียงวิธีเดียวมีสัดส่วนหรือร้อยละของไขมันในร่างกายสูงสุดและมีดัชนีมวลกาย(body mass index – BMI)สูงที่สุดในกลุ่มคนที่เดินทางไปทำงานทั้งหมด

ดร.เอ็ลเลน ฟลิ้นท์ อาจารย์ผู้บรรยายในเรื่องสุขภาพของประชากรที่วิทยาลัยสุขศึกษาและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้เป็นหัวหน้าคณะผู้ทำการศึกษา บอกว่า มื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางด้วยการใช้รถยนต์แล้ว  การใช้ขนส่งสาธารณะ การเดิน และการใช้จักรยาน หรือใช้ทั้งสามวิธีผสมผสานกัน แสดงให้เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการลดลงของมวลกายและสัดส่วนไขมันในร่างกาย แม้จะนำปัจจัยทางด้านประชากรและทางด้านเศรษฐกิจสังคมมาพิจารณาแล้วก็ตาม  “คนจำนวนมากอาศัยอยู่ไกลจากสถานที่ทำงานเกินกว่าจะเดินหรือขี่จักรยานไปทำงานได้ แต่แม้เพียงการมีกิจกรรมทางกายไม่มากนักจากการใช้ขนส่งสาธารณะก็สามารถจะมีผลอย่างสำคัญได้”  เธอเสริมว่า การเดินทางไปทำงานด้วยการใช้ขนส่งสาธารณะหรือการขี่จักรยาน หรือการเดิน โดยเฉพาะในช่วงวัยกลางคน สามารถเป็น “ส่วนสำคัญของนโยบายที่นำมาใช้ทั่วโลกในการป้องกันภาวะอ้วน(obesity)ของประชากรโดยรวมได้

การมีน้ำหนักเกิน(overweight)และภาวะอ้วนกลายเป็นปัญหาสุขภาพที่หนักหน่วงที่สุดในโลกไปแล้วในขณะนี้ดร.ลาร์ส โบ แอนเดอร์สัน แห่ง Sogn and Fjordane University College ในประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นคนที่เขียนบทวิจารณ์รายงานการศึกษาครั้งนี้ บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “ปกติแล้ว เมื่อเราแต่ละคนอายุ 30ปีขึ้นไป ก็จะมีน้ำหนักเพิ่มปีละ 1-2 ปอนด์ (400-800 กรัม)  แต่เราสามารถป้องกันแนวโน้มนี้ได้อย่างง่ายๆ ด้วยการเลือกเดินทางไปทำงานด้วยวิธีการที่ทำให้เรามีกิจกรรมทางกาย และการเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารไปเพียงเล็กน้อย”

ผลการศึกษาที่ออกมายืนยันอย่างท่วมท้นถึงผลดีของการเดินทางที่ทำให้มีกิจกรรมทางกายนี้น่าจะเป็นหลักฐาน-ข้อมูลที่หนักแน่นที่ช่วยโน้มน้าวให้คนที่ยังขับรถยนต์ไปทำงาน เปลี่ยนพฤติกรรมมาเดินทางไปทำงานด้วยการเดินหรือการขี่จักรยานหากที่อยู่อาศัยอยู่ในระยะที่ทำได้ หรือใช้ขนส่งสาธารณะ ซึ่งอย่างไรก็ต้องผสมหรือใช้ร่วมกับการเดินหรือใช้จักรยาน เพราะไม่มีขนส่งสาธารณะระบบใดพาคุณออกจากบ้านไป-กลับสถานที่ทำงานตลอดระยะทางทั้งหมดได้ คุณต้องเริ่มและปิดท้ายการเดินทาง ที่เขาเรียกกันว่า “กิโลเมตรหรือไมล์สุดท้าย” ด้วยการเดินหรือใช้จักรยานอยู่ดี  ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้ทำงานรณรงค์ให้การศึกษาและผลักดันนโยบายเรื่องนี้อย่างแข็งขันมาตลอดห้าปีที่ผ่านมา ทั้งกับชุมชน สื่อมวลชน หน่วยงานราชการไทย และองค์การระหว่างประเทศ

——————————————————————————————————————————————————————————————-

กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เรียบเรียงจากข่าว Cycling and walking to work linked to lower levels of body fat เขียนโดย Kashmira Gander ในหนังสือพิมพ์ The Independent ในอังกฤษ ฉบับวันที่ 27 มีนาคม 2016 

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

Leave a Reply

Your email address will not be published.