ชาวกรุงเทพฯ ที่ใช้จักรยานกว่าหกร้อยคนขี่จักรยานจากสวนลุมพินีไปศูนย์ประชุมสหประชาชาติ แสดงการสนับสนุนองค์การสหประชาชาติรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขอให้องค์การสหประชาชาติกระตุ้นให้รัฐบาลประเทศต่างๆ เอาการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานเป็นนโยบายสาธารณะและมาตรการสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เช้าตรู่ของวันที่อากาศสดใสในฤดูฝน อาทิตย์ที่ 2 กันยายน 2555 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประชาชนชาวกรุงเทพฯได้เห็นขบวนของคนมากมายขี่จักรยานไปตามถนน แต่ที่แปลกไปจากการขี่จักรยานรณรงค์เกือบทั้งหมดที่ทำกันมาอยู่ตรงที่ขบวนนี้มีคนหลากหลาย ทั้ง “นักจักรยาน” ที่สวมใส่ชุดรัดรูปกับหมวกแปลกๆ ขี่จักรยานราคาเป็นหมื่นเป็นแสน และชาวบ้านธรรมดาจากชุมชนที่ใช้จักรยานอยู่ประจำเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขา มีตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงวัย แต่งตัวตามสบาย ขี่จักรยานเก่าๆ เล็กบ้างใหญ่บ้างในราคาหลักพัน โดยเป็นนักจักรยาน 356 คนจากกลุ่มและชมรมต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 71 กลุ่ม, ชาวบ้าน 270 คนจากชุมชน 19 แห่งใน 16 เขตของกรุงเทพมหานคร, นักข่าวที่มาขี่ด้วย 3 คน และกรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย 4 คน รวมเป็น 635 คน
พวกเขาไปรวมพลกันที่ลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี ขี่ผ่านย่านเยาวราช ไปยังพระบรมมหาราชวัง สนามหลวง และไปตามถนนราชดำเนินถึงศูนย์ประชุมขององค์การสหประชาชาติ สะพานมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งกำลังมีการประชุม Bangkok Climate Change Conference ที่จัดโดยอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Framework Conference on Climate Change – UNFCCC) ดำเนินอยู่ ที่นี่คุณคริสเทียน่า ฟิเกอเรส (Christians Figueres) เลขาธิการของ UNFCCC ได้ลงมาพบปะกับผู้ร่วมขบวนและรับจดหมายเปิดผนึกของประชาชนชาวกรุงเทพมหานครถึง UNFCCC ที่พวกเขาส่งตัวแทนมายื่นด้วยมือของเธอเอง (ดูเนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ในข่าวเรื่องนี้)
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย กล่าวหลังการยื่นจดหมายว่า การเดินและการใช้จักรยานแทนรถยนต์ส่วนตัวหรือจักรยานยนต์สำหรับการเดินทางในระยะสั้นและใช้เดินทางไปเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ อย่างรถประจำทาง เรือประจำทาง รถไฟฟ้า หรือรถไฟ สำหรับการเดินทางในระยะที่ไกลออกไป เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ เพราะสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างชัดเจน รัฐบาลทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นจึงควรจัดให้การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเป็นระเบียบวาระในการบริหารและดำเนินงานในพื้นที่ของตนในเร็ววัน และได้เสนอให้ UNFCCC นำเรื่องนี้ไปสื่อให้ประเทศต่างๆด้วย
นางคริสเทียน่า ฟิเกอเรส กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดนี้และยินดีจะเป็นสื่อกลางระดับโลกในการสื่อสารนี้ไปยังผู้นำประเทศต่างๆต่อไป ตัวเธอเองนั้นเมื่ออยู่ที่นครเยนีวาก็จะขี่จักรยานไปทำงานที่สำนักงาน UNFCCC ทุกวัน ยกเว้นวันที่หิมะตก และวันหยุดก็ขี่จักรยานออกไปเที่ยวชนบทด้วย
หลังจากถ่ายรูปร่วมกันแล้ว คุณคริสเทียน่าได้ร่วมขี่จักรยานเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าสนับสนุนการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน โดยออกนำหน้าขบวนมุ่งหน้าต่อไปยังลานพระบรมรูปทรงม้าและวกกลับมาศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ก่อนจะแยกตัวเข้าไปร่วมการประชุมภายในต่อ ส่วนผู้เข้าร่วมการรณรงค์ก็ได้แยกย้ายกันกลับหลังรับของที่ระลึกแล้ว เป็นการสิ้นสุดกิจกรรม
การรณรงค์ในวันนั้นเกิดขึ้นจากการร่วมกันจัดของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย มูลนิธิโอกาส และชุมชนคนใช้จักรยานแห่งชาติ แต่ความสำเร็จทั้งหมดมาจากความร่วมมือของประชาชนผู้ใช้จักรยานที่มากันมากมายเกินกว่าที่คาดไว้แม้จะมีเวลาบอกกล่าวกันเพียงสองสัปดาห์ และที่ไม่อาจข้ามเลยไปคือ น้ำใจอันงดงามของพี่ๆ นักจักรยานที่ช่วยดูแลขบวนให้ชาวชุมชนที่ตามปกติไม่ได้ออกมาขี่กันบนถนนใหญ่สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายอย่างเรียบร้อยปลอดภัย หลายคนเสียสละมาขี่เป็นเพื่อนน้องๆ จากชุมชนที่ตกท้ายขบวน ดูแลจนไปถึงกันทุกคน และต้องขอบคุณผู้ใช้ถนนในกรุงเทพมหานครวันนั้นที่เข้าใจถึงความมุ่งหมายของการรณรงค์และให้ขบวนจักรยานเดินทางไปก่อนด้วย
รายงานโดย กวิน ชุติมา