Home / Articles / บทความทั่วไป / กทม. ลุยจัดระเบียบทางเท้า รื้อ 1.7 หมื่นแผงค้าภายในปี 60

กทม. ลุยจัดระเบียบทางเท้า รื้อ 1.7 หมื่นแผงค้าภายในปี 60

กทม.ลุยจัดระเบียบทางเท้า รื้อ 1.7 หมื่นแผงค้าภายในปี 60

จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 8 สิงหา 59

คอลัมน์ สังคม-ชุมชน-สิ่งแวดล้อม

  • ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม

 

ปัญหาการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยรุกล้ำทางเท้า เป็นปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพมหานคร(กทม.)ที่ต่อเนื่องมายาวนาน และในอดีตมักจะถูกเอาจริงเอาจังเพียงชั่วคราว

แม้จะมีพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ออกมาระบุกติกา ไปจนถึงบทลงโทษชัดเจน แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ปรากฏผลงานเป็นรูปธรรม ท่ามกลางเสียงครหาว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ “บางราย”เรียกรับผลประโยชน์หรือไม่?

จนกระทั่งมีรัฐบาล คสช. เมื่อ 2 ปีเศษที่ผ่านมามีการย้ำชัดเรื่องนี้อีกครั้งตามด้วยการดำเนินการอย่างจริงจังของกทม. จึงได้เห็นการจัดระเบียบเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ อย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้

การเร่งรัดจัดระเบียบเมือง คืนทางเท้าให้ประชาชนตามนโยบายของคสช. เริ่มต้นจากจุดแรกที่ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร ด้วยการประกาศห้ามขายตลอด 24 ชม. ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ให้ย้ายเข้าไปขายในซอยใกล้เคียงแทนหรือบางรายก็ย้ายตามสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไปสนามบินน้ำ

รวมถึงบริเวณริมคลองคูเมืองเดิมและรอบศาลฎีกาเขตพระนคร ที่มีผู้ค้าประมาณ 1,000 ราย เป็นการยุติแหล่งค้าขายสินค้าในตำนานริมคลองหลอด ตามด้วยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขตราชเทวี ที่ให้ทำการค้าที่เดิมแต่ขีดแนวตั้งวางให้ชัดเจน และกวดขันให้ผู้ค้าอยู่ในกติกา

แต่ที่ถือเป็นการระเบียบที่เรียกเสียงฮือฮาอย่างมากก็คือ การจัดระเบียบตลาดคลองถม ย่านการค้าเก่าแก่ชื่อดัง แม้จะไม่ถึงกับเป็นการปิดตำนาน เพราะร้านค้าบนอาคารยังเปิดขายอยู่ แต่ก็ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายผิดไปจากอดีต รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงกันย่านสะพานเหล็กที่รุกล้ำคลองโอ่งอ่าง ก็ต้องถูกรื้อทิ้งทั้งหมดตั้งแต่ปลายปี 2558 ที่ผ่านมา และประเดิมใช้พื้นที่จัดงานลอยกระทงเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2558

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ที่มีประเด็นต่อเนื่องคือปากคลองตลาด แหล่งค้าดอกไม้ พวงมาลัยเก่าแก่ ที่ต่อรองกันมาหลายครั้ง และกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่ กทม.กับผู้ค้าอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงพื้นที่ติดกันใต้สะพานพระพุทธยอดฟ้า ที่มีแผงค้านานาชนิด ทีขณะนี้การเจรจาก็ยังไม่ได้ข้อยุติ

จนถึงขณะนี้การดำเนินของ กทม. มีการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เพื่อคืนทางเท้าให้แก่ประชาชนไปแล้ว 61 จุด ในพื้นที่ 27 เขต รวมผู้ค้า 16,645 หมื่นรายโดยเน้นการเจรจาและขอความร่วมมือจากผู้ค้าเป็นหลัก พร้อมกับการช่วยจัดหาจุดขายใหม่

อย่างไรก็ดีการจัดระเบียบมีหลายวิธีการ โดยมี 4 จุดที่ยังคงผ่อนผัน แต่เข้าไปกำกับให้เป็นระเบียบมากขึ้นที่บริเวณปากซอยอุดมสุข  เขตบางนา ปากซอยอ่อนนุช เขตวัฒนา ถนนราชปรารภ  เขตราชเทวี และหน้าศูนย์การค้าบิ๊กซี เขตปทุมวัน รวมทั้งบางพื้นที่ที่จัดแบ่งเวลาให้ค้าขาย 2 รอบ อย่างเช่นที่หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัสเวิลด์โบ๊เบ๊ ถนนข้าวสาร ฯลฯ และบางจุดยอมให้ขายเฉพาะกลางคืนอย่างเช่นหน้าศูนย์การค้าสยามสแควร์ หน้าวัดหัวลำโพง ถนนสีลมขาออกตั้งแต่สีลมซอย 10  ถึงแยกพระราม 4 ฯลฯ

ขณะเดียวกันก็มีหลายพื้นที่ห้ามขายเด็ดขาดตลอด 24 ชั่วโมงอย่างเช่นรอบศาลฎีกา สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ หน้าตลาดจตุจักร 2 มีนบุรี รอบตลาดจตุจักร หน้าโรงพยาบาลศิริราช หน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์รัชโยธิน ตลาดคลองถม หน้าอาคารสินสาทรฝั่งธนบุรี ฯลฯ

รวมถึงล่าสุดได้เตรียมจัดระเบียบในจุดสำคัญอื่นๆ ประกอบไปด้วยประตูน้ำ มีผู้ค่า 610 ราย แยกราชประสงค์ หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และหน้าห้างบิ๊กซี ราชดำริ มีผู้ค้า 600ราย ถนนสีลมมีผู้ค้า 611 ราย ทั้ง 4 แห่งจะยกเลิกการค้าในวันที่ 15 ส.ค.นี้ ส่วนถนนสุขุมวิทตลอดสาย จะยกเลิกแผงค้าในวันที่ 5 ก.ย.

ส่วนใต้สะพานพุทธ และสะพานพระปกเกล้า มีผู้ค้ารวม 348ราย จะยกเลิกในวันที่ 12 ก.ย.และในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ทุกสำนักงานเขตจะยกเลิกแผงค้าบนทางเท้าทั้งหมด ภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้

    โดยกทม. ได้ตั้งเป้าหมายในการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอยเพื่อคืนทางเท้าให้ประชาชนด้วยการจัดระเบียบผู้ค้าใน 48 เขตจากทั้งหมด 50 เขตใน กทม. บนถนน 73 สาย ระยะทาง 309 กม. ที่มีผู้ค้าในจุดผ่อนผันทั้งสิ้นรวม 17,812 ราย มีกำหนดเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือน ส.ค.ปี2560

กทม. ลุยจัดระเบียบทางเท้า รื้อ 1.7 หมื่นแผงค้าภายในปี 60
กทม. ลุยจัดระเบียบทางเท้า
รื้อ 1.7 หมื่นแผงค้าภายในปี 60 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ สังคม-ชุมชน-สิ่งแวดล้อม

 

Comments

comments

Check Also

โรแบร์ มาร์ชอง นักจักรยานวัย 105 ทำสถิติใหม่