Home / Articles / เดนมาร์กบอกอะไรเราเรื่องวัฒนธรรมการใช้จักรยาน

เดนมาร์กบอกอะไรเราเรื่องวัฒนธรรมการใช้จักรยาน

%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%99%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%81

การที่คนในสังคมหนึ่งจะใช้จักรยานกันแพร่หลายเป็นประจำในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ไม่ใช่กิจกรรมที่ทำเป็นการเฉพาะพิเศษ การใช้จักรยานก็ต้องเป็น “วัฒนธรรม” หนึ่งของสังคมนั้น  และสังคมที่เรานึกถึงทันทีเมื่อพูดถึง “วัฒนธรรมการใช้จักรยาน” ก็คงไม่พ้นไปจากสังคมเนเธอร์แลนด์หรือสังคมเดนมาร์ก ที่จากสถิติล่าสุด สองประเทศนี้ครองอันดับ 1 และ 2 ของการมีคนใช้จักรยานเป็นวิธีการเดินทางเป็นสัดส่วนต่อการเดินทางทั้งหมดสูงที่สุด คือร้อยละ 36 และ 28 ตามลำดับ

ก่อนจะลงไปที่ “วัฒนธรรมการใช้จักรยาน” มาดูคำว่า “วัฒนธรรม” กันก่อน  “วัฒนธรรม” ในความเป็นจริงนั้นต่างจากที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ  วัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งถาวร อยู่นิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง  แต่วัฒนธรรมเกิดได้ รุ่งเรืองได้ เสื่อมถอยได้ และ “ตาย” สิ้นสลายหายไปได้ในบริบทต่างๆ ของสังคม  วัฒนธรรมไม่เพียงแต่กำหนดระเบียบแบบแผน ขนบธรรมเนียมประเพณี และคุณค่าทางสังคมของเราเท่านั้น  แต่เราสร้างวัฒนธรรมได้และทำลายวัฒนธรรมได้ ไม่จำเป็นต้องรักษาเอาไว้จนสุดฤทธิ์ หากมันก่อให้เกิดความเสียหาย เช่น สร้างความไม่เป็นธรรม หรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  นั่นหมายความว่า “วัฒนธรรมการใช้จักรยาน” ของสังคมหนึ่งๆ มีความเป็นมา และเป็นไป  ไม่ได้เป็นดังเช่นที่เราเห็นในปัจจุบันมาตลอด  วัฒนธรรมหนึ่งๆ อาจต่างกันและมีผลต่อสังคมต่างกันเมื่ออยู่ในบริบทสังคมที่ต่างกัน

ทีนี้มาดูที่ “วัฒนธรรมการใช้จักรยาน” เป็นการเฉพาะ และก็เป็นไปตามชื่อของบทความชิ้นนี้คือ เราเฉพาะเจาะจงมาพิจารณาที่ “วัฒนธรรมการใช้จักรยานของสังคมเดนมาร์ก”               ว่าเราจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง

มาดูกันดีกว่าว่า คนเดนมาร์ก หรือชาวเดน (Danes) เองมองวัฒนธรรมการใช้จักรยานของพวกเขาอย่างไร  และคนหนึ่งที่น่าจะให้คำตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็ไม่พ้น นายเคลาส์ บอนดาม (Klaus Bondam) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานเดนมาร์ก (CEO, Danish Cyclists Federation) แค่ประโยคเดียวที่นายเคลาส์กล่าวก็บ่งบอกถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของวัฒนธรรมการใช้จักรยานต่อสังคมเดนมาร์กแล้ว  เขาบอกว่า “วัฒนธรรมการใช้จักรยานของเดนมาร์กไม่เพียงแต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของเราเท่านั้น หากยังเป็นกระดูกสันหลัง เป็นแกนกลางค้ำยันอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของเราอีกด้วย

%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%99%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%812

ชาวเดนมาร์กใช้จักรยานเดินทางไปทำงานยามเช้า

ลองคิดดูนะครับว่าเรามีภาพอะไรเมื่อคิดถึงชาติหนึ่งๆ  ถ้าเป็นอังกฤษ หลายคนคงนึกผู้ชายใส่หมวกสูงกลมๆ ถ้าเป็นบราซิลก็น่าจะเป็นการเต้นแซมบ้าใช่ไหมครับ  ภาพเหล่านี้เป็นเหมือน “เครื่องหมายการค้า” ที่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมนั้น  และสำหรับเดนมาร์กก็คนขี่จักรยานไงครับ  แต่นายเคลาส์บอกว่า วัฒนธรรมการใช้จักรยานของเดนมาร์กเป็นมากกว่านั้น มันเป็นส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวตนที่ชาวเดนเชื่อมโยงพวกเขาเข้าเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านายเคลาส์จะกล่าวว่า เดนมาร์กมีวัฒนธรรมการใช้จักรยานที่เป็นเอกลักษณ์จนถึงขั้นเป็น “ข้อยกเว้น” ไม่ใช่ลักษณะทั่วไปของชาติต่างๆ ซึ่งก็ทำให้ประเทศเขาต่างจากประเทศส่วนใหญ่ในโลก  เขาก็ยอมรับว่ามีอีกสองสามประเทศที่มีวัฒนธรรมนี้เช่นกัน  ซึ่งแม้เขาจะไม่เอ่ยชื่อเอาไว้ เนเธอร์แลนด์ก็ต้องเป็นหนึ่งในนั้นแน่นอน

เขาคุยว่า วัฒนธรรมการใช้จักรยานหยั่งรากลึกในชาวเดนราวกับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของพันธุกรรมของพวกเขานั่นเชียว  ดูได้จากการที่ในฤดูหนาว ไม่ว่าจะหนาวเหน็บขนาดไหน คุณก็จะเห็นชาวไวกิ้งผู้กล้าขี่จักรยานฝ่าหิมะและลมหนาวไปทุกแห่งที่พวกเขาต้องการไป  เมื่อเป็นเช่นนี้ วัฒนธรรมการใช้จักรยานจะต้องฝังตัวอยู่ในดีเอ็นเอของชาวเดนแน่นอน…  ว่าเข้าไปนั่น

ชาวเดนไม่ได้ถือว่าการใช้จักรยานเป็นแค่เรื่องการเดินทาง (ซึ่งก็ยังมากกว่าคนจำนวนมากที่ใช้จักรยานเพียงเพื่อออกกำลังกาย ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ หรือทำกิจกรรมหนึ่งใดเป็นการเฉพาะเท่านั้น) แต่การใช้จักรยานเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของพวกเขาทีเดียว  มันบอกว่าพวกเขาเป็นใคร มาจากไหน และสร้างสังคมที่พวกเขาดำรงชีวิตอยู่อย่างไรทั้งในปัจจุบันและในอนาคต   สังคมสวัสดิการของพวกเขาไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่ตั้งอยู่แบบแผนการคิดที่ชัดเจนแน่นอนอย่างหนึ่ง และถ้าจะเข้าใจแบบแผนการคิดนี้ ส่วนหนึ่งก็ต้องมองไปที่วัฒนธรรมการใช้จักรยาน

%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%99%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%81-3

วัฒนธรรมการใช้จักรยานคือการแสดงออกของประชาธิปไตย ความเสมอภาคเท่าเทียม และความสมานฉันท์  มันผูกพันชีวิตของชาวเดนเข้าด้วยกันตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยชรา และเป็นหนึ่งในไม่กี่สิ่งที่ติดตัวพวกเขาไปตลอดว่า ไม่ว่าจะอยู่ตามลำพังหรืออยู่ร่วมกับคนอื่น  ตั้งแต่เด็ก พวกเขาก็ขี่จักรยานไปโรงเรียน โตขึ้นหน่อยก็ขี่ไปมหาวิทยาลัยหรือไปต่อรถไฟ เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ขี่จักรยานไปทำงานและประกอบภารกิจอื่นๆ  เมื่อเป็นผู้สูงอายุก็ขี่จักรยานไปจับจ่ายซื้อของ ไปห้องสมุด หรือแค่ให้มีสุขภาพดี  จักรยานเชื่อมโยงคนในชุมชนท้องถิ่นเข้าด้วยกัน และเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไม่ว่าคนผู้นั้นจะอายุเท่าใดก็ตาม

ชาวเดนเรียนรู้การขี่จักรยานตั้งแต่อายุยังน้อย  เมื่อมองไปบนถนนยามเช้าเวลาคนเริ่มออกไปปฏิบัติภารกิจในชีวิตประจำวันหรือในช่วงเลิกกิจการกลับบ้าน คุณจะเห็นผู้จัดการบริษัท นางพยาบาล เด็กนักเรียน และผู้สูงอายุ ขี่จักรยานอยู่ข้างเคียงกัน  บางครั้งมาตามลำพัง บางครั้งมาเป็นครอบครัว มากับเพื่อนฝูง หรือเพื่อนร่วมงาน  ในเดนมาร์ก คนทุกคน ทุกระดับชั้นของสังคม และทุกวัย ใช้จักรยาน จนเป็นธรรมชาติ เป็นเรื่องปรกติธรรมดาของชีวิต  ไม่ว่าคุณจะเป็นรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา หรือนายกเทศมนตรี  ไม่ต้องพูดถึงใครเลย แม้แต่มกุฎราชกุมารผู้ที่จะขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ต่อไปของเดนมาร์กก็ทรงขี่จักรยานไปส่งพระโอรสธิดาไปโรงเรียนเป็นประจำ  การใช้จักรยานให้อิสรภาพในการเดินทางไม่ว่าคุณจะมีสถานะทางสังคมเช่นไร  นี่เป็นเหตุผลที่ชาวเดนมองว่าจักรยานเป็นเครื่องมือในการสร้างประชาธิปไตย  มันสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกันเพราะจักรยานเป็นของทุกคน ใครก็มีก็ใช้จักรยานได้  จักรยานยังได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการเดินทางที่มีสถานะทัดเทียมกับขนส่งสาธารณะและยานยนต์ทั้งหลาย  ดังนั้นเมื่อมีการวางแผนวางผังและจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของเมือง จักรยานจึงได้รับการพิจารณาในฐานะที่ไม่ต่ำไปกว่ายานพาหนะอื่นๆ

%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%99%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%815

แม้แต่มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์กก็ยังใช้จักรยานขนส่งและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการใช้จักรยานของเดนมาร์ก!

แต่ถึงแม้ว่าชาวเดนจะมีประเพณีการใช้จักรยานมานมนานจนเป็นที่รู้จักกันดีและเป็นที่อิจฉาตาร้อนของคนในอีกหลายประเทศทั่วโลก วัฒนธรรมการใช้จักรยานในเดนมาร์กก็มีขึ้นมีลง มีทั้งที่อยู่ในกระแสสูงและตกต่ำ  ในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 การใช้จักรยานเป็นวิธีการเดินทางที่ชาวเดนใช้มากที่สุดทั้งในเมืองและในชนบท  มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่มีฐานะดีพอจะซื้อรถยนต์มาใช้ได้  จนต่อเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง  สหรัฐอเมริกาได้นำแผนการมาร์แชลมาช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของยุโรป พร้อมๆกับนำวัฒนธรรมของตน รวมทั้งวัฒนธรรมการใช้รถยนต์ เข้ามาด้วยนั่นแหละ คนจึงหันมาใช้รถยนต์กันอย่างจริงจังจนการใช้จักรยานตกลงไป  แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันในช่วงทศวรรษ 1970 คนในเดนมาร์กและในเนเธอร์แลนด์ก็หันกลับมาปัดฝุ่นจักรยานคันเก่านำออกไปใช้อีก และมีแต่เดินหน้าใช้จักรยานมากขึ้นๆนับแต่วันนั้น  ปัจจุบันร้อยละ 99 ของชาวเดนขี่จักรยานเป็นก่อนอายุ 10 ขวบ และร้อยละ 96 เห็นว่าเด็กๆต้องขี่จักรยานไปโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย  กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรใช้จักรยานสัปดาห์ละหลายครั้ง

ในอดีตสมัยที่การใช้รถยนต์เคยเป็นกระแสสังคม ถนนถูกมองว่าเป็นแค่สิ่งจำเป็นสำหรับการคมนาคมขนส่ง ทำให้ถนน ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะของคนทุกคน กลายเป็นพื้นที่เฉพาะของรถยนต์และคนส่วนน้อยที่ใช้รถยนต์เท่านั้น   แต่ในเดนมาร์กปัจจุบัน การวางแผนเมืองมีจุดเน้นอยู่ที่คน ทางจักรยาน และทางเดินเท้า  การสร้างถนนและจัตุรัสต่างๆ เป็นไปเพื่อสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมให้ประชากรผู้อยู่อาศัย  ทำให้สภาพแวดล้อมและชีวิตในเมืองเป็นปัจจัยในการสร้างประชาธิปไตย  พื้นที่ต่างๆในเมืองถูกทำให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่คนสามารถพบปะและใช้ร่วมกันมากที่สุด

คุณเคลาส์สรุปว่า หากไม่มีวัฒนธรรมการใช้จักรยานแล้ว ชาวเดนก็คงไม่สามารถก้าวไปสู่สังคมที่ยั่งยืนอย่างรวดเร็วและนำหน้าประเทศส่วนใหญ่ในโลกอยู่ในขณะนี้ได้  วัฒนธรรมการใช้จักรยานไม่เพียงแต่เป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวเดน แต่ยังเป็นของขวัญที่พวกเขาควรจะต้องขอบคุณและกระตือรือร้นที่จะเอาไปใช้ให้มากยิ่งๆขึ้นด้วย

แล้วเราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเดนมาร์กในเรื่องวัฒนธรรมการใช้จักรยาน?

เราเรียนรู้ว่า  วัฒนธรรมการใช้จักรยานเป็นการแสดงออกของประชาธิปไตย เป็นเครื่องบ่งชี้วัดระดับประชาธิปไตย และเป็นเครื่องมือในการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและยั่งยืน และหากจะมี “ชุมชนจักรยาน” “เมืองจักรยาน” และ “สังคมจักรยาน” ก็จำเป็นต้องทำให้การใช้จักรยานเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของชุมชน เมือง และสังคมนั้น โดยที่วัฒนธรรมการใช้จักรยานนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเอง หากยังไม่มีอยู่หรือยังอ่อนแอ ไม่เป็นกระแสหลัก เราก็ต้องสร้างต้องเสริมขึ้นมาอย่างแข็งขันจริงจัง พร้อมไปกับการสร้างระบบและโครงสร้างพื้นฐานมารองรับ มาเอื้ออำนวย ให้การใช้จักรยานทำได้อย่างสะดวก สบาย และปลอดภัย  ดังที่พ่อเมืองในต่างแดนคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า  “เมืองจักรยานจะเป็นจริงก็ต่อเมื่อคุณรู้สึกว่าปลอดภัยที่จะให้ลูกของคุณขี่จักรยานไปโรงเรียนและคุณส่งเสริมให้ลูกของคุณทำเช่นนั้นด้วย”

หลายเมืองในไทยที่ผู้บริหารประกาศกันโครมๆ ว่าเป็น “เมืองจักรยาน” ควรจะถามตนเองก่อนว่าเมืองของคุณมีวัฒนธรรมการใช้จักรยานและมีระบบกับโครงสร้างที่ส่งเสริมสนับสนุนการใช้จักรยานแล้วหรือยัง  แม้จะไม่ต้องถึงขั้นที่การใช้จักรยานเข้าไปอยู่ในดีเอ็นเอของคนในเมืองนั้น  แต่ถ้ายังไม่มีหรือมีแต่ไม่เข้มแข็ง ก็จำเป็นต้องสร้างต้องทำขึ้นมาอย่างจริงจัง ให้อยู่ในนโยบาย ในแผนปฏิบัติการ และในการจัดสรรงบประมาณทุกระดับครับ  มิฉะนั้น “เมืองจักรยาน” ก็จะเป็นเพียงคำประกาศที่ว่างเปล่าอีกคำหนึ่งดังเช่นที่หลายคำเป็นมา

————————————————————————————————————————————————————————————————————————————–

กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยและสถาบันการเดินและการจักรยานไทย เก็บมาเล่าจาก

CYCLING CULTURE: LEARNING FROM DENMARK

ภาพประกอบทั้งหมดในบทความนี้เป็นของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานเดนมาร์ก

 

Comments

comments

Check Also

วันไร้รถที่กรุงปารีสลดมลพิษทางอากาศลงถึงร้อยละ 40