Home / News and Events / News / เปลี่ยนการเดินทางของเรา….ชะลอการเปลี่ยนภูมิอากาศกรุงเทพฯ

เปลี่ยนการเดินทางของเรา….ชะลอการเปลี่ยนภูมิอากาศกรุงเทพฯ

เราคงได้ยินมากันบ่อยครั้งแล้วว่า หากเรายังไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ปริมาณสะสมของก๊าซเหล่านี้จะทำให้อุณหภูมิของบรรยากาศโลกสูงขึ้น จนถึงจุดหนึ่ง สภาพภูมิอากาศก็จะเปลี่ยนแปลงไปจนไม่หวนกลับมาเป็นอย่างในปัจจุบันอีก แล้วจุดเปลี่ยนนี้จะเกิดขึ้นเมื่อใดเล่า แน่นอนว่าจะเกิดไม่พร้อมกันทั่วโลก แต่ที่ไหนจะเกิดก่อนเกิดหลัง

ล่าสุดทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวายได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร Nature ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไปในวงการวิทยาศาสตร์ว่า ถ้าเราไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างมากในเร็ววัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไม่เคยมีมาก่อน(อย่างน้อยในช่วงประวัติศาสตร์ของอารยธรรมมนุษย์) และอย่างไม่หวนกลับคืน จะเกิดขึ้นได้ในอีกเพียง 6-7 ปีข้างหน้าคือปี 2020 และประเทศที่จะได้รับผลกระทบก่อนอื่นจะเป็นประเทศกำลังพัฒนา เช่นอินโดนีเซีย  ว่ากันตามจริง มหาสมุทรของโลกผ่านจุดเปลี่ยนถาวรนี้ไปแล้วตั้งแต่ห้าปีก่อนคือปี 2008 (พ.ศ. 2551) แต่ถ้าคิดเฉลี่ยทั่วโลก จุดเปลี่ยนถาวรนี้จะอยู่ในปี 2047 (พ.ศ. 2590)  ถึงเวลานั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะมีผลกระทบกับประชากรโลกไปแล้วกว่า 1,000,000,000 (หนึ่งพันล้าน) คน ทั้งในด้านการขาดแคลนอาหาร น้ำ และทรัพยากร(ซึ่งจะทำให้มีความขัดแย้งมากขึ้น) ด้านสุขภาพกายและจิต(โดยเฉพาะผลจากความร้อน-อุณหภูมิที่สูงขึ้น) ด้านการระบาดของโรค และการไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ทีมวิจัยใช้ข้อมูลอุณหภูมิ 145 ปีย้อนไปถึงปี 1860 (พ.ศ. 2403 ตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่ 4) ไล่เรียงมาจนถึงปี 2005 และใช้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศ 39 แบบที่มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างเป็นอิสระต่อกันจาก 12 ประเทศ มาคาดการณ์อุณหภูมิของบรรยากาศโลกล่วงไปข้างหน้า 100 ปี   ทีมวิจัยนำข้อมูลจากหลายแหล่งมารวมกัน ทำให้สามารถทำนายได้ถึงปีที่จุดหนึ่งจุดใดบนผิวโลกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรนอกขอบเขตที่เคยเป็นมาในอดีต โดยเขตร้อนจะไปถึงจุดนั้นก่อน รู้สึกถึงผลกระทบได้ก่อนเขตอบอุ่นอย่างน้อย 10-15 ปี แม้การเปลี่ยนแปลงจะไม่มาก แต่ก็รวดเร็ว กระทบระบบนิเวศกับพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างๆ มากมาย เพราะเขตร้อนมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง

ถ้ามาดูเมืองต่างๆทั่วโลกก็จะได้ปีที่ถึงจุดเปลี่ยนอย่างถาวรจากผลของการศึกษาเรียงตามลำดับดังนี้: (ปีเป็น ค.ศ.)

  • 2029 – จาการ์ต้า (อินโดนีเซีย), ลากอส (ไนจีเรีย)
  • 2031 – เม็กซิโกซิตี้ (เม็กซิโก)
  • 2033 – โบโกต้า (โคลอมเบีย)
  • 2034 – มุมไบ (อินเดีย)
  • 2036 – ไคโร (อิยิปต์), แบกแดด (อิรัก), ไนโรบี (เคนยา)
  • 2041 – โตเกียว (ญี่ปุ่น)
  • 2042 – เพิร์ธ (ออสเตรเลีย)
  • 2043 – โฮโนลูลู (ฮาวาย-สหรัฐอเมริกา), ซานติเอโก (ชิลี), พรีทอเรีย (อาฟริกาใต้)
  • 2044 – โรม (อิตาลี)
  • 2046 – ปักกิ่ง (จีน),กรุงเทพฯ (ไทย), ออร์แลนโด (สหรัฐอเมริกา)
  • 2047 – วอชิงตัน ดีซี และ นิวยอร์ก (สหรัฐอเมริกา)
  • 2048 – ลอสแอนเจลิส กับ เดนเวอร์ (สหรัฐอเมริกา)
  • 2049 – ซานฟรานซิสโก (สหรัฐอเมริกา)
  • 2050 – ริอูเดอจาเนรู (บราซิล)
  • 2055 – ซีแอทเทิล (สหรัฐอเมริกา)
  • 2056 – ลอนดอน (อังกฤษ)
  • 2063 – มอสโคว์ (รัสเซีย)
  • 2066 – เรยะวิก (ไอซแลนด์)
  • 2071 – อังคอเรจ (อลาสกา-สหรัฐอเมริกา)

ศาสตราจารย์ ดร.คามิโล โมรา หัวหน้าทีมวิจัยฮาวายยืนยันว่าภูมิอากาศอย่างที่เราคุ้นเคยจะหายไปแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว เพราะถึงแม้เราจะสามารถหยุดยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้ที่ระดับปัจจุบันได้ เราก็ไม่อาจหยุดยั้งการไปถึงจุดเปลี่ยนอย่างไม่หวนคืนนั้นได้ ทำได้ก็เพียงอาจทำให้มันเลื่อนช้าออกไปสัก 20 ปี และเมื่อไปถึงจุดนั้นแล้วก็มีทางเลือกสำหรับสิ่งมีชีวิต รวมทั้งคนเรา 3 ทางคือ ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในที่ที่อยู่ได้ ปรับตัว หรือไม่ก็ตาย

อ้าว ถ้าการเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้วนี้เกิดขึ้นแน่ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ถ้าอย่างนั้นจะไปสนใจทำอะไรทำไมกัน  คำตอบง่ายๆคือ เราต้องไม่ยอมแพ้ แต่ทำทุกอย่างที่ทำได้อย่างเร่งด่วน เพราะอาจจะหมายถึงความอยู่รอดหรือการสูญพันธุ์  การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะมีผลให้อัตราการเปลี่ยนแปลงลดลง เป็นการซื้อเวลาให้เราหาทางปรับตัวได้มากขึ้น

เมื่อมาดูตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเรา จะพบว่า ร้อยละ 29 มาจากการเดินทาง-ภาคขนส่ง แต่ถ้าคิดเฉพาะกรุงเทพฯ ก็จะมากถึงครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 ทีเดียว  ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ทันทีคือ หากยังใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือจักรยานยนต์ในการเดินทาง ก็เปลี่ยนมาเป็นเดินและขี่จักรยาน ซึ่งสองวิธีนี้แทบจะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย หรือใช้ขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าลอยฟ้า-ใต้ดิน หรือรถประจำทาง(ที่เรามักเรียกกันว่ารถเมล์) ซึ่งบรรทุกคนได้ครั้งละจำนวนมาก จึงปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนน้อย

กวิน ชุติมา

กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

(ข้อมูลจากบทความชื่อ When Will Your City Reach the Point of No Return From Irreversible Climate Change?)

เขียนโดย Susan Bird October 2013

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

Leave a Reply

Your email address will not be published.