Home / Articles / การขี่จักรยานเป็นกีฬาที่มีคนเข้าร่วมมากกว่าฟุตบอลแล้วในอังกฤษ

การขี่จักรยานเป็นกีฬาที่มีคนเข้าร่วมมากกว่าฟุตบอลแล้วในอังกฤษ

เวลาเรานึกกีฬาในอังกฤษ เราจะนึกถึงฟุตบอลเป็นสิ่งแรกจากข่าวที่มีอยู่แทบจะทุกวันทางสื่อมวลชนต่างๆ รองลงไปก็น่าจะเป็นรักบี้ ซึ่งอังกฤษได้ชื่อว่าเป็น “ต้นกำเนิด” เช่นเดียวกับฟุตบอล  แต่ในช่วงหลังนี้คนไทยที่สนใจกีฬาน่าจะได้ยินชื่ออังกฤษคู่กับจักรยานมากขึ้น จากการที่อังกฤษกอบโกยเหรียญทองไปมากมายจากกีฬาโอลิมปิกสองครั้งล่าสุด (2008 และ 2012 ที่ลอนดอน) และชาวอังกฤษได้เป็นแชมป์การแข่งจักรยานทางไกลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือตูร์เดอฟรองซ์ (Tour de France) สองครั้งล่าสุดติดต่อกัน โดยแบรดลี่ย์ วิกกิ้นส์ (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นท่านเซอร์) เป็นชาวอังกฤษคนแรกที่ชนะการแข่งรายการนี้ในปี 2012 และคริส ฟรูม ชนะในปี 2013

คริส ฟรูม นักจักรยานชาวอังกฤษ ขณะกำลังขี่เข้าเส้นชัยตูร์เดอฟรองซ์ครั้งล่าสุดในปี 2013 ในโอกาสที่การแข่งขันนี้ครบรอบ 100 ปี

หนังสือพิมพ์ดิการ์เดี้ยน (The Guardian) ของอังกฤษรายงานเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้การขี่จักรยานได้แซงหน้าฟุตบอลขึ้นมาเป็นกีฬาที่มีคนเข้าร่วมมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของอังกฤษแล้ว โดยมีผู้ใหญ่ขี่จักรยานเป็นประจำกว่า 2 ล้านคน  ดิการ์เดี้ยนยกการมีส่วนร่วมอย่างมากมายนี้ให้เป็นผลงานของ British Cycling องค์การบริหารกีฬาจักรยานของอังกฤษ ที่สามารถเอาความสำเร็จในการแข่งขันของนักกีฬาจำนวนน้อยไปกระตุ้นความสนใจของชาวอังกฤษอย่างกว้างขวาง ทำให้มีคนขี่จักรยานเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (ความจริงต้องไม่ลืมผลงานขององค์กรเอกชนที่ผลักดัน รณรงค์ ส่งเสริมการใช้จักรยานมาต่อเนื่องยาวนาน อย่าง Sustran, CTC และ London Cycling Campaign ด้วย)

ยิ่งกว่านั้นคนอังกฤษมีแนวโน้มจะปั่นจักรยานกันเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากในปี 2014 นี้ ตูร์เดอฟรองซ์จะกลับมาเริ่มในอังกฤษอีกครั้งหลังจากครั้งสุดท้ายมาเมื่อปี 2007โดยการปั่นบนเกาะอังกฤษจะมีสามช่วง ช่วงแรกจากเมืองลีดส์(Leeds)ไปเมืองฮาร์โรเกต(Harrogate)ผ่านชนบทอังกฤษที่สวยงามและมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมไปพักผ่อนของชาวอังกฤษในแถบยอร์คเชียร์เดลส์(Yorkshire Dales) ในวันที่ 5 กรกฎาคม ตามด้วยช่วงที่สองจากเมืองยอร์ค(York)ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ผ่านเมืองฮัดเดอร์สฟิลด์(Huddersfield) ไปเมืองเชฟฟิลด์(Sheffield) ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมในวันที่ 6 กรกฎาคม และช่วงที่สามจากเคมบริดจ์(Cambridge) เมืองมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ลงมากรุงลอนดอนในวันที่ 7 กรกฎาคม

นอกจากอาสาสมัครดูแลเส้นทางในวันแข่งราว 10,000 คนแล้ว คาดกันว่าจะมีผู้ชมตามรายทางในสามวันนี้ 4-5 ล้านคน ก่อผลทางเศรษฐกิจให้ประเทศเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านปอนด์ (ราว 5,000 ล้านบาท) ซึ่งส่วนใหญ่จะไปตกแก่ธุรกิจในท้องถิ่นและการท่องเที่ยว ขณะที่ลงทุนเพียงราว 27 ล้านปอนด์หรือหนึ่งในสี่เท่านั้น (10 ล้านมาจากรัฐบาล)  ตอนนี้ก็เริ่มมีชมรมจักรยานและองค์กรการกุศลต่างๆ จัดขี่จักรยานตามเส้นทางสามช่วงดังกล่าวแล้ว และที่สำคัญ มีการมองไปข้างหน้าด้วยแล้วจะทำอย่างไรให้กระแสการขี่จักรยานที่อยู่ในระดับที่สูงสุดเท่าที่เคยมีมาในอังกฤษสูงยิ่งขึ้นไปอีกหลังตูร์เดอฟรองซ์ปีนี้สิ้นสุดลงในวันที่ 22 กรกฎาคม

การจัดตูร์เดอฟรองซ์ถึงสามช่วงในอังกฤษน่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยที่รักการแข่งจักรยานไปชมกันมากขึ้น เพราะภาษาเป็นอุปสรรคน้อยลงและคนไทยคุ้นเคยกับอังกฤษมากกว่าฝรั่งเศส  สำหรับผู้สนใจ มีข้อมูลให้สืบค้นได้มากมายทางอินเตอร์เน็ต และควรเริ่มเตรียมตัวล่วงหน้าแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องที่พักและการเดินทาง

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

Leave a Reply

Your email address will not be published.