ความเป็นจริงคือสังคมไทยเราก็ไม่ต่างจากอีกสังคมจำนวนมากในโลกนี้ที่กำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” คำถามที่เราต้องหาคำตอบอย่างเร่งด่วนคือ จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี สามารถดูแลตนเองและทำกิจการให้สังคมได้ ไม่ต้องเป็นภาระให้คนอื่นมาดูแล และสุขภาพดีที่ว่านี้รวมถึงการมีสมองที่แจ่มใส คงรักษาพลังความสามารถในการคิดวิเคราะห์และทรงจำเอาไว้ได้ด้วย
แล้วเราจะดูแลสมองให้แหลมคมอยู่ได้อย่างไรในวัยห้าสิบขึ้น คำแนะนำส่วนใหญ่ที่เราได้ยินได้เห็นมักจะเป็นการมุ่งฝึกสมองให้ตื่นตัวอยู่เสมอด้วยกิจกรรมที่ใช้สมองคิด ไม่ว่าจะการเล่นหมากรุก รูปต่อ ซูโดกุการตอบคำถาม หรือเกมลับสมองต่างๆ น้อยมากที่จะมีคนพูดถึงการออกกำลังกายหรือกิจกรรมทางกายไปปรับปรุงการทำงานของสมองและความทรงจำ ทั้งที่ในความเป็นจริง กิจกรรมทางกายสามารถที่จะมีบทบาทอย่างมากในการทำให้ความทรงจำของเราดีเยี่ยมและสมองคิดได้อย่างแหลมคม
ศูนย์สุขภาพสมองที่มหาวิทยาลัยเท็กซัสในเมืองดัลลัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ใหญ่ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอจะมีสุขภาพทั้งในด้านกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในร่างกาย (เช่น การเผาผลาญอาหารให้เกิดเป็นพลังงาน) และในด้านการเรียนรู้ทำความเข้าใจด้วยตนเอง ดีกว่าคนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย เนื่องจากการออกกำลังกายแบบแอโรบิกทำให้เลือดไหลไปหล่อเลี้ยงสมองดีขึ้น โดยเฉพาะสมองในส่วนที่โรคอัลไซเมอร์มีผลกระทบมากที่สุด
ยังมีการศึกษาที่จัดให้ผู้สูงอายุวัย 50 ถึง 85 ปี ปั่นจักรยานออกกำลังกายแบบอยู่กับที่นาน 6 นาที หลังจากนั้นหนึ่งชั่วโมงก็ให้ทำแบบทดสอบความทรงจำ ผู้สูงวัยกลุ่มนี้ทำแบบทดสอบได้ดีกว่าผู้สูงวัยอีกกลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลังกายนั้นเป็นอย่างมาก การวิจัยได้ข้อสรุปว่าการออกกำลังกายแม้เพียงสั้นๆ ก็ช่วยปล่อย norepinephrine สารเคมีชนิดหนึ่งในสมองที่ช่วยปรับปรุงความทรงจำ
ดังนั้นถ้าคุณเดินทางไปไหนมาไหนด้วยการเดินหรือใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอยู่แล้วก็ใช้ได้เลย
ถ้าไม่ ออกไปเดินหรือขี่จักรยานกันเดี๋ยวนี้ และทำกันทุกวัน ดีไหมครับ
กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย