Home / News and Events / News / ตัวอย่างการพัฒนาทางเท้าที่น่าจับตามอง

ตัวอย่างการพัฒนาทางเท้าที่น่าจับตามอง

      นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2557  ที่ผ่านมาสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ได้ว่าจ้างให้ผู้รับเหมาปรับปรุงผิวทางเท้าบริเวณถนนพุทธบูชา โดยเริ่มทำการเปิดผิวทางเท้า ตั้งแต่แยกนาหลวง ฝั่งโรงเรียนนาหลวง เลียบรั้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และเลียบรั้วสวนธนบุรีรมย์ ระยะทางประมาณหนึ่งกิโลเมตรเศษ

 

แผนที่แสดงตำแหน่งปรับปรุงผิวทางเท้าบริเวณถนนพุทธบูชา (ภาพ: วิโรจน์  ศรีสุรภานนท์)

ทางเท้าช่วงนี้เป็นเส้นทางที่สำคัญสำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปใช้สำหรับเดินทางไปทำงาน ไปเรียน และไปสวนสาธารณะ ความกว้างของทางเท้าเฉลี่ยประมาณ 3 เมตร แต่ใช้งานได้จริงเหลือไม่ถึง 1 เมตร เนื่องจากมีอุปสรรคและสิ่งกีดขวางบนทางเท้าดังภาพ

ทางเท้าช่วงนี้เป็นเส้นทางที่สำคัญสำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปใช้สำหรับเดินทางไปทำงาน ไปเรียน และไปสวนสาธารณะ ความกว้างของทางเท้าเฉลี่ยประมาณ 3 เมตร แต่ใช้งานได้จริงเหลือไม่ถึง 1 เมตร เนื่องจากมีอุปสรรคและสิ่งกีดขวางบนทางเท้าดังภาพ

                ทางเท้าเลียบรั้ว มจธ.                                                                            ทางเท้าเลียบรั้วสวนธนบุรีรมย์

 สภาพทางเท้าก่อนที่จะทำการเปิดผิวทาง(ภาพ: วิโรจน์  ศรีสุรภานนท์)

ดังนั้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2557  นายสมชาย ลีลารัตน์ หัวหน้าศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนน 5 สำนักการโยธา ได้พูดคุยหารือกับ รศ.ดร.วิโรจน์  ศรีสุรภานนท์  หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง  ภาควิชาวิศวกรรมโยธา  คณะวิศวกรรมศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ส่วนงานอาคารและสถานที่ของมจธ.  รศ.ดร.วิโรจน์ ได้เสนอว่าในการปรับปรุงทางเท้าครั้งนี้ นอกจากจะทำการซ่อมแซมผิวทางเท้าแล้ว  ควรปรับปรุงรื้อถอนขอบคันหินรอบต้นไม้ยืนต้น และพุ่มไม้เตี้ยด้วย  เพื่อเป็นการขยายความกว้างของทางเท้า เพื่อความสะดวกในการสัญจร  ในการพูดคุยหารือได้มีการพูดถึงงานเสวนาเรื่อง “การพัฒนาโครงข่ายการใช้จักรยานร่วมกับคนเดินเท้าตามแนวถนนพุทธบูชา” ที่ รศ.ดร.วิโรจน์ และคณะทำงานได้จัดขึ้นที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. เมื่อวันศุกร์ที่  18 พ.ค. 2555  ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสวนา  ทั้งประชาชนและตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ  ได้แก่  ตัวแทนจากสำนักการโยธา รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง และผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ ฯลฯ โดยก่อนการเสวนา  มจธ. ได้จัดเตรียมจักรยานให้ผู้เข้าร่วมงานเสวนาได้ทดลองใช้จักรยานบนทางเท้าช่วงที่สำนักการโยธา กำลังบูรณะอยู่นี้  เพื่อรับรู้ถึงปัญหาในการใช้จักรยานบนทางเท้านี้ด้วย ซึ่งผลจากการเสวนาได้ข้อสรุปว่า ควรพัฒนาทางเท้าตามแนวถนนพุทธบูชาให้ประชาชนสามารถใช้จักรยานร่วมกับคนเดินเท้าได้จริง   หัวหน้าศูนย์ก่อสร้างฯ เข้าใจและเห็นด้วยในข้อเสนอ  แต่เนื่องจากคันหินและแนวพุ่มไม้เตี้ย เป็นพื้นที่สีเขียวที่อยู่ในการดูแลของสำนักงานเขตทุ่งครุ  หัวหน้าศูนย์ก่อสร้างฯ จึงได้เข้าหารือกับผู้อำนวยการเขตทุ่งครุเพื่อขออนุญาตรื้อถอนขอบคันหินรอบต้นไม้ยืนต้นและพุ่มไม้เตี้ย ส่วนที่เป็นสิ่งกีดขวางบนทางเท้าออกไป

การทำงานในลักษณะนี้นับเป็นตัวอย่างของการยอมรับฟังข้อคิดเห็นของผู้ใช้ทางและการร่วมมือกันจัดการแก้ปัญหาที่ฉับไวของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ  โดยเล็งเห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก  โดยได้ชะลองานก่อสร้าง และตัดสินใจเพิ่มงานส่วนการรื้อถอน รวมทั้งปรับปรุงรูปแบบทางเท้าใหม่ให้ประชาชนได้สัญจรได้สะดวกขึ้น  แม้ว่าในการปรับปรุงครั้งนี้จะมีงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด เพียงประมาณสองล้านบาทเท่านั้น

นับเป็นความท้าทายของการจัดการของภาครัฐอีกครั้งหนึ่งที่น่าจับตามองกัน  เพราะขณะนี้ยังไม่มีการรื้อถอนสิ่งกีดขวางบนทางเท้า และทางเท้าอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถใช้งานได้  เพราะอิฐบล็อกที่ทางผู้รับเหมารื้อถอน ได้ถูกกองไว้บนทางเท้า เพื่อเตรียมใช้ปิดกลับบนทางเท้าอีกครั้งดังภาพ

          สภาพทางเท้าปัจจุบัน(ภาพ:วิโรจน์  ศรีสุรภานนท์)

หากการปรับปรุงซ่อมแซมทางเท้าครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์และผู้ใช้จักรยานสามารถขี่จักรยานร่วมกับคนเดินเท้าได้จริง  การร่วมมือกันจัดการแก้ปัญหาครั้งนี้ก็จะสามารถนำไปเป็นตัวอย่างการพัฒนาปรับปรุงทางเท้าตามแนวถนนสายอื่นๆ ได้ต่อไปในอนาคต

—————————

รายงานโดย รศ.ดร.วิโรจน์  ศรีสุรภานนท์

หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง  ภาควิชาวิศวกรรมโยธา  คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

Leave a Reply

Your email address will not be published.