Home / News and Events / News / ชมรมฯ ร่วมสัมมนาการพัฒนาโครงข่ายทางจักรยานในเขตทางพิเศษ

ชมรมฯ ร่วมสัมมนาการพัฒนาโครงข่ายทางจักรยานในเขตทางพิเศษ

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้จัดการสัมมนารับฟังความเห็น “โครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน เพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายถนนสำหรับรถจักรยานในเขตทางพิเศษ” ครั้งที่ 2ขึ้นที่โรงแรมเอส ซี ปาร์ค เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ โดยครั้งที่ 1จัดไปเมื่อเดือนพฤษภาคม และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการสัมมนาทั้งสองครั้ง

บอร์ดโครงการฯ

ความเป็นมาของโครงการนี้คือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เห็นว่าตนมีโครงข่ายทางพิเศษ (หรือที่เราเรียกว่า “ทางด่วน”) ในความรับผิดชอบยาวถึง 208กิโลเมตร ทางนี้ผ่านพื้นที่ใจกลางเมืองและเชื่อมต่อพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯ มีเขตทางราวสี่แสนตารางวา (ให้กรุงเทพมหานครใช้ไปราวหนึ่งแสนตารางวา) สามารถนำมาพัฒนาให้มีโครงข่ายเส้นทางรถจักรยานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐานสูงที่ชักนำให้ประชาชนใช้จักรยานเพื่อเดินทางในชีวิตประจำวันมากขึ้น มีส่วนในการสร้างวัฒนธรรมจักรยานในกรุงเทพฯ ได้ เพราะร่มรื่นอยู่แล้ว ไม่ต้องมีการเวนคืน มีค่าลงทุนดำเนินการไม่สูง และสามารถดำเนินการเป็นรูปธรรมได้รวดเร็ว  ทำให้เป็นโครงข่ายทางจักรยานที่ “เขียวที่สุดในโลก” และ “ปลอดภัยอย่างสิ้นเชิง” ตามคำของนายพิภพ ภู่เจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการ กทพ.ที่กล่าวในการเปิดการสัมมนาครั้งนี้  กทพ.จึงได้ให้สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจธ. มาทำโครงการศึกษาดังกล่าวขึ้น ซึ่งรวมถึงการออกแบบเบื้องต้นเส้นทางนำร่องด้วย

ในการสัมมนาครั้งนี้ รศ. ดร. ธวัชชัย เหล่าศิริหงษ์ทอง ผู้จัดการโครงการ และนายบรรพต เจริญสัตยธรรม รองผู้จัดการและวิศวกรโครงการ ได้ให้ข้อมูลโครงการที่มีรายละเอียดเพิ่มเติมมีความชัดเจนมากขึ้นจากการสัมมนาครั้งแรก เช่น ทางที่สร้างจะเป็น“ทางด่วนจักรยาน” (Bicycle Expressway)คือทางที่ขี่ได้ต่อเนื่อง เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนและสถานที่สำคัญได้สะดวก มีความปลอดภัย ไม่มีอุปสรรคสิ่งกีดขวาง ไม่มีจุดตัดกับถนนใดๆ ร่มรื่นสวยงามเป็นเอกลักษณ์ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันบริเวณจุดบริการและตามเส้นทาง

                     

                        ดร.ธวัชชัยและคุณบรรพตร่วมเสนอโครงการฯบนเวที                                                                  ผู้เข้าร่วมประชุมฯ

การพัฒนาโครงข่ายถนนสำหรับรถจักรยานนี้กำกับด้วยแผนแม่บทที่มีระยะเวลา 10ปี จาก พ.ศ. 2558ถึง 2567โดยแบ่งเป็นสามระยะ และถ้าผู้ใช้จักรยานโชคดี ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นตามแผนและแบบการก่อสร้างที่ มจธ. เสนอ ก็จะเปิดเส้นทางนำร่องให้ผู้ใช้จักรยานได้ใช้ช่วงปลายปี 2559เส้นทางนำร่องที่ว่านี้ คณะผู้ศึกษาเลือกไว้ยาว 18กิโลเมตร เป็นทางตามแนวทางพิเศษฉลองรัชจากถนนรามอินทราถึงถนนพระราม 9ยาว 13กิโลเมตร, ทางจากถนนพระราม 9ถึงสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ทลิงค์รามคำแหง 1กิโลเมตร และทางตามแนวทางพิเศษศรีรัชจากถนนพระราม 9ถึงสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ทลิงค์มักกะสัน ถนนรัชดาภิเษก 4กิโลเมตร โดยทางจักรยานจะกว้าง 3 เมตรแบ่งเป็นสองช่องทางขี่สวนกัน (ถ้ามีผู้ใช้มากต่อไปก็จะขยายเป็น 6เมตรได้) ผิวทางเป็นแอสฟัลท์ราดทับบนแผ่นคอนกรีตที่มีเสาเข็มรองรับ เพื่อให้ราบเรียบและไม่มีการยุบตัว

จากความเห็นของผู้เข้าร่วมในการสัมมนาครั้งที่ 1โดยเฉพาะชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยที่ได้ย้ำเน้นว่า หากจะให้มีคนจำนวนมากหันมาขี่จักรยานโดยใช้เส้นทางที่จะสร้างขึ้นนี้ ก็จำเป็นต้องให้ชุมนุมตามแนวเส้นทางเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ทั้งในการพัฒนาโครงการ ออกแบบ และการบริหารจัดการ  ทางคณะผู้ศึกษาจึงได้จัดทำ “แผนงานสนับสนุนและส่งเสริมการเดินทางโดยรถจักรยาน” ขึ้นสำหรับโครงการนำร่องนี้ มี 7 โครงการย่อยได้แก่ จัดทำสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์, จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยาน, ส่งเสริมการใช้จักรยานของชุมชนตามแนวเส้นทาง, ฝึกอบรมเพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการเดินทางโดยจักรยาน, จัดทำป้ายแผนที่บอกจุดสำคัญและเส้นทางจักรยานในเขตทางพิเศษ, จัดตั้งจุดบริการข้อมูลทางจักรยานในเขตทางพิเศษ และจักรยานให้เช่าในเขตทางพิเศษ โดยจะมีการศึกษาพฤติกรรมและลักษณะการเดินทางโดยรอบพื้นที่ที่เส้นทางจักรยานผ่านด้วย

ตัวแทนชมรมฯ คุณกวิน ชุติมา เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ด้วย

ดร.ธวัชชัยย้ำว่า ความสำเร็จของโครงข่ายทางจักรยานที่จะมีผู้มาใช้งานมากๆ นั้นขึ้นอยู่กับการสร้างระบบให้ผู้ที่อยู่รอบเส้นทาง(ซึ่งอยู่นอกพื้นที่ความรับผิดชอบของ กทพ.)ขี่จักรยานมาเชื่อมต่อได้ ซึ่งขณะนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการที่มีสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย, Bangkok Bicycle Campaign และมหาวิทยาลัย 7 แห่งมาศึกษาออกแบบระบบทางจักรยานในชุมชนแล้ว ซึ่งระบบเหล่านี้จะมาเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางจักรยานของ กทพ.  และในอนาคต หากรัฐบาลบังคับให้หน่วยงานต่างๆ ที่จะทำทางจักรยานต้องมาทำร่วมกัน ก็อาจจะเกิดเป็นโครงข่ายทางจักรยานกรุงเทพมหานคร และโครงข่ายทางจักรยานแห่งชาติขึ้นได้

คณะผู้ศึกษาประเมินว่าจะใช้เงินลงทุนก่อสร้างเส้นทางนำร่องนี้ 965 ล้านบาท(มีผู้เข้าร่วมสัมมนาติงว่าตัวเลขต่ำไป ไม่น่าจะทำได้จริง) โดยหนึ่งในสามใช้กับทางลอดต่างๆ และอีกหนึ่งในสามกับทางยกระดับยาว 7 กิโลเมตร  อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็น “ทางด่วน” ที่มีการลงทุนไม่น้อย และมีผู้เข้าร่วมสัมมนาตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าในการลงทุน ทั้งเสนอให้เก็บค่าบริการ คณะผู้ศึกษาก็ได้เสนอ กทพ. ให้ผู้ขี่จักรยานใช้ได้โดยไม่เก็บค่าบริการเช่นเดียวกับทางจักรยานทุกแห่งในโลก โดย “ความคุ้มค่า” ในการลงทุนไม่จำเป็นต้องมองเป็นตัวเงินในเชิงเศรษฐกิจด้านเดียว อีกทั้ง กทพ.เองก็มองโครงข่ายทางจักรยานนี้เป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท (Corporate Social Responsibility – CSR) อยู่แล้ว และยังอาจจะหาผู้สนับสนุนบางส่วนจากภาคธุรกิจได้ด้วย

ท่านผู้ใดต้องการสอบถามข้อมูลรายละเอียดของโครงการฯ เพิ่มเติม หรือแสดงความเห็น ติดต่อได้ที่สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเก้าธนบุรี โทรศัพท์02 470 9671-3 และโทรสาร 02 428 3374 หรือที่กองวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมระบบทางพิเศษ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 02 579 5380-9 ต่อ 1722 และโทรสาร 02 319 9730-9 ต่อ 4623

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC)

TCC เป็นสมาชิกองค์กรแรกและประเทศแรกในเอเชียของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF)

และผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA)

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

Leave a Reply

Your email address will not be published.