Home / Articles / 21 ปีชมรมฯ ความจำสั้น แต่ความฝันยาว

21 ปีชมรมฯ ความจำสั้น แต่ความฝันยาว

ความจำสั้น..

จริง….เพราะจำไม่ได้แล้วว่าไปไงมาไงถึงเกิดชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยขึ้นมาได้

ที่จำได้ดีคือช่วงนั้น กระแสจักรยาน โดยเฉพาะ เสือภูเขา(Mountain Bike) มาแรง เพราะ ททท.หน่วยงานด้านท่องเที่ยวของประเทศ จับกระแสนี้อย่างจริงจัง มีการก่อตั้งมูลนิธิพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว มีกิจกรรมท่องเที่ยวสีเขียว(green tourism) เกิดขึ้นมากมาย คำว่า Ecotourism เริ่มติดปากคนรุ่นใหม่ และตามมาอีกเป็นระลอก Community base Tourism, Cultural tourism, Homestay จนถึง การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และอื่นๆ อีกมากมาย ตามแต่จะบรรเจิดกันไป

มีกิจกรรม ตีปี๊บด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวมากมาย โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวโดยการปั่นจักรยานกันครึกโครม ต้องพูดว่า ทั้งที่สิ่งอำนวยความสะดวก(Facilities) ยังไม่พร้อม ร้านจักรยานรวมถึงช่างที่รู้จักเสือภูเขาจริงๆ ก็นับคนได้ ข้าวของ(Kits)ต่างๆ ก็ไม่มีขาย หาซื้อไม่ได้ง่ายๆ นักจักรยานดูเป็นมนุษย์ประหลาด (Alien) แต่ตัวอย่างกะจิ้งเหลน แต่เราก็ไม่แคร์สื่อ….

อ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ซึ่งขณะนั้น ฉันมีโอกาสช่วยงานท่าน และนักวิชาการอีกหลายท่าน ในกรณีการคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน ในนามสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมที่ฉันและเพื่อนๆเป็นอาสาสมัครอยู่  อาจารย์เป็นนักวิ่งมาราธอน ซึ่งเป็นกีฬาเชิงเดี่ยวที่มีการแก้เบื่อหรือยกระดับความยาก ต่อยอดเป็นไตรกีฬา โดยผนวกการว่ายน้ำ และปั่นจักรยานเพิ่มเข้ามา ถ้าจำไม่ผิดอาจารย์เป็นคณะทำงานการแข่งขันกรุงเทพฯมาราธอนด้วย เดาว่านี่คงเป็นเหตุให้อาจารย์เป็นนักปั่นจักรยานด้วยไงล่ะ ฉันพูดได้ว่านอกเหนือจากภาคสนามหรือภาคปฏิบัติ ของกิจกรรมจักรยานที่ ททท.ส่งเสริมแล้ว อ.ดร.ธงชัยนี่แหละ เป็นผู้เปิดภาควิชาการ หรือภาคทฤษฎี ให้แก่นักปั่นจักรยานเสือภูเขาในเมืองไทย

ด้วยความที่เป็นนักเคลื่อนไหวที่มีประสบการณ์และแหลมคมในวิธีคิด นั่นจึงขยายผลเป็นการตั้งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยขึ้น เพราะท่านเองนั้นมีเครือข่ายในต่างประเทศมากมาย รวมทั้งเล็งเห็นว่ากระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต้องลงมือกระทำ ไม่ใช่แค่รับรู้ แล้วสิ่งที่สร้างความบันเทิงให้จิตใจ สร้างความแข็งแรงให้ร่ายกาย คือพาหนะที่ฝังใจผู้ใหญ่ในวันนี้ เด็กๆในอดีต….จักรยาน นั่นไง

เมื่อเราพากันปั่น ปั่น ปั่น แต่ฝั่งเจ้าบ้านนายเมือง นั่งนิ่งๆ มันก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่เกิดการพัฒนาไปสู่เส้นทางสีเขียว ชมรมฯจึงจัดกิจกรรมหลักสองด้านฝั่งประชาชน เรารณรงค์เชิญชวนให้ชาวกทม.หวนคิดถึงชีวิตสนุกตอนเด็กๆที่เคยปั่นจักรยานเที่ยวตามเรือกสวน หรือถนนในหมู่บ้าน ไม่จำเป็นต้องใช้จักรยานเสือภูเขาราคาห้าหลัก จำได้ครั้งหนึ่งในกิจกรรมชมรมฯ อาจารย์นำจักรยานเกือบแม่บ้าน ราคา ราวๆสองพันบาทมาปั่น วันนั้นยังได้เรียนถาม อาจารย์บอกว่าต้องการให้เห็นว่าชมรมฯรณรงค์ การใช้จักรยาน แบบไม่ได้เจาะจงรูปแบบ ยี่ห้อ แบรนด์ ขอเพียงมีใจก็มาปั่นกัน ฉันเองยังได้เรียนแลกเปลี่ยนกันอาจารย์ว่า ฉันเองไม่ชอบชุดปั่นจักรยานมันดูแปลกแยก แล้วก็ตัดสินใจว่าไม่จำเป็นฉันก็ไม่แต่งชุดนักปั่นเหมือนกัน เรายังเคยตั้งเวทีสนทนาถึงรูปแบบการปั่นจักรยานเช่น การสวมหมวกกันกระแทก สวมถุงมือ เลยไปถึงรองเท้าจักรยานแสนแพงที่พ่วงด้วยการเปลี่ยนบันไดถีบจักรยาน และอื่นๆ อีกมากมาย

กลับมาเรื่องกิจกรรม อีกฟากฝั่งกิจกรรมของชมรมฯที่เป็นคู่ขนานกันก็คือการสะท้อนแนวคิดไปสู่ฝ่ายรัฐบาลในระดับนโยบาย ด้านการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนั้นปัญหาใหญ่โลกแตกเรื้อรังของกทม.คือ ปัญหาการจราจร ปริมาณรถยนต์บนท้องถนนที่มากกว่าผิวจราจร ชมรมฯเสนอทางแก้ด้วยจักรยาน ซึ่งได้ผลตอบรับบ้างตามฤดูกาล (หาเสียง) ชมรมฯเริ่มเข้าหาพันธมิตร เช่นกรุงเทพมหานคร ที่เริ่มกำหนดนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของกทม. ตั้งศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยว กทม. และปัจจุบัน คือสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว สังกัด กรุงเทพมหานคร แสดงวิสัยทัศน์และเรียกร้องให้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการใช้จักรยาน และอีกหน่วยงานหนึ่งคือ ททท. เรื่องเที่ยวก็เลยมาเกี่ยวกับจักรยาน

ชมรมฯจัดกิจกรรมเที่ยวเชิงรณรงค์ ต่างๆมากมาย หมายให้ผู้คนที่พบเห็นได้ตระหนักรู้และหันมาให้ความสนใจในกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทุกกิจกรรมไม่ใช่ปั่นจักรยานเที่ยวแล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน แต่ชมรมฯพยายามแฝงนัยยะของการรณรงค์ และข้อคิดไว้อย่างสม่ำเสมอ..ฉันหมายถึงในห้วงเวลาที่ฉันได้มีโอกาสร่วมจัดกิจกรรมกับชมรมฯ

เป็นความภูมิใจลึกๆว่าเวลาใครคิดถึงกิจกรรมเกี่ยวกับจักรยาน ฉันมักจะได้รับเกียรติให้มีส่วนร่วมเล็กๆน้อยๆ

ความฝันยาว…

ใช่ แม้ผ่านไป21 ปี แต่ยังจำได้ว่าเราฝันอะไรกับเรื่องจักรยานบ้าง ก็เพราะมันยังไม่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนนั่นเอง มันจึงยังเป็นแค่ความฝัน และเราก็ยังฝันกันไว้อีกมากมายเกี่ยวกับการใช้จักรยาน
ฉันอาจจะโชคดี(แค่ช่วงสั้นๆ) เพราะปัจจุบันนี้ ฉันใช้จักรยานเป็นพาหนะในชีวิตประจำวัน ไม่มีรถยนต์ใช้ ไม่ขึ้นรถสาธารณะ ปั่นจักรยาน(เกือบ)ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ที่ที่ฉันอยู่ตอนนี้ยินดีตอนรับจักรยานอย่างเต็มใจ และจริงใจ ทางจักรยานมีทุกถนน ที่จอดมีทุกจุด แถมมีทางจักรยานสำหรับออกกำลังกาย และเที่ยวทางไกลอีกต่างหาก

เมื่อย้ายมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ คิดถึงชมรมฯมากๆ เพราะสิ่งที่พบที่นี่ คือชุดความฝันที่เคยมีเกี่ยวกับจักรยานล้วนๆ แล้วที่สุดฉันก็ได้รับข่าวดีที่ว่าชมรมฯยังอยู่และเดินหน้าต่อไปในเรื่องจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการใช้จักรยาน

สรรพสิ่งล้วนไม่เที่ยง ไม่ว่าจะคงอยู่ในรูปแบบชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ที่เคยทรงอิทธิพลต่อวงการจักรยานท่องเที่ยว และแสนจะคึกคักในอดีต

หรือแค่เพื่อนกลุ่มเล็กๆที่คิดเห็นต่อกิจกรรมจักรยานเหมือนๆกัน สำหรับฉันไม่มีอะไรสำคัญเท่าการย้ำกระบวนคิดและจุดยืนของเราเท่านั้นเอง…………Size doesn’t matter

– มะขามเปียก

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

Leave a Reply

Your email address will not be published.