Home / Articles / โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ ตอน : ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ ตอน : ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

โครงการปิดเทอมสร้างสรร ตอน : ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรหลักในสังคมไทยที่ทำงานขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ในการผลักดันให้คนในสังคม ชุมชน หันมาใช้จักรยานและการเดินในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น โดยมุ่งเน้นการสร้างนโยบายจากฐานราก คือการปรับทัศนคติและพฤติกรรมคนในชุมชนให้ใช้จักรยานในกิจกรรมต่างๆ ทั้งการไปทำงาน การไปโรงเรียน หรือการไปทำธุระต่างๆ การทำงานของชมรมฯนั้นจึงมีการทำงานรณรงค์กับคนหลายกลุ่ม เพื่อนำไปสู่การสร้างชุมชนจักรยาน อันเป็นชุมชนสุขภาวะในสังคมไทย

ในช่วงเวลาปิดภาคเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในปี 2558  ทางชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้ทำงานเชิงรุกกับเยาวชนกลุ่มนี้ในโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ โดยนำแนวคิดหลักธรรมทางพุทธศาสนา คือหลักอริยสัจ 4ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคมาเป็นแนวคิดหลักในการให้เยาวชนได้นำมาประยุกต์ใช้ในการคิดแก้ปัญหาในชุมชน อันเป็นการฝึกทักษะการคิดเชิงระบบ ผสานกับการให้ความรู้เรื่องจักรยาน เพื่อสร้างความรู้และทัศนคติต่อเรื่องจักรยาน ซึ่งในการดำเนินโครงการนี้ ได้กำหนดวัตถุประสงค์คือ 1.เพื่อให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในช่วงปิดภาคเรียน  2.เพื่อให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้จักรยานหรือการเดินในชีวิตประจำวัน  3.เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการทำแผนที่ชุมชน/โรงเรียนด้วยหลักอริยสัจ 4

ในการดำเนินโครงการได้กำหนดพื้นที่ดำเนินงาน จำนวน 5 พื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสนใจในการปั่นจักรยาน และอยากรณรงค์ให้คนในชุมชนได้หันมาใช้จักรยานให้มากขึ้น ซึ่งทางชมรมจักรยานฯ ได้คัดเลือกพื้นที่ดำเนินงานทั่วทุกภูมิภาค จากความพร้อมของกลุ่มเป้าหมายคือนักเรียน และผู้นำชุมชน ที่ร่วมสนับสนุนกิจกรรม  ดังนี้

1.      ชุมชนบ้านจัดสรรสกุลทิพย์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร

2.      โรงเรียนเทศบาล 4 วัดใต้โพธิ์ค้ำ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

3.      โรงเรียนบ้านไร่ร่วมวิทยาคาร อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี

4.      โรงเรียนเชียงคำวิทยาคม อ.เชียงคำ จ.พะเยา

5.      โรงเรียนเทศบาล 4 วัดโพธิวราราม อ.เมือง จ.อุดรธานี

  

กระบวนการทำงานของโครงการ

กระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการ ปิดเทอมสร้างสรรค์ ตอน “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” เริ่มจากการสร้างความตระหนักในสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของสังคม ของโลก ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ทั้งภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง พายุ สึนามิ ปัญหาโลกร้อน ปัญหามลพิษ การจราจรติดขัด ฯลฯ แล้วร่วมกันระดมความคิดหาหนทางร่วมกันป้องกันแก้ไขปัญหา บนฐานศักยภาพของเด็กเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม อันเป็นการกระตุ้นเตือนความคิดและปลูกฝังพฤติกรรมเชิงบวกในการร่วมรักษาสภาพแวดล้อมของชุมชน เช่น การลดการทิ้งขยะ  การประหยัดพลังงานไฟฟ้า การใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน   

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่เด็กเยาวชนสามารถทำได้ทันที คือการใช้จักรยาน ซึ่งเด็กเกือบทุกคนจะมีจักรยานอยู่แล้ว วิทยากร ได้แก่ คุณกวิน ชุติมา คณะกรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และอาจารย์เมธี พิริยการนนท์ นักวิชาการ  ได้ให้ความรู้เรื่องการใช้จักรยานด้วยความปลอดภัย และข้อดีของการใช้จักรยาน ผ่านการเสวนา การบรรยาย ทำให้เด็กเยาวชนเรียนรู้ การดูแลรักษาอุปกรณ์ของรถจักรยาน เช่น ต้องเช็คความพร้อมของเบรกโดยทดลองปั่นและเบรกรถ แฮนด์รถและเบาะนั่งไม่ชำรุดและมีระดับพอเหมาะกับคนปั่นรถจักรยาน   การปั่นจักรยานให้ปลอดภัย เช่น กระดิ่งต้องมีเสียงดัง และมีสิ่งสะท้อนแสงติดที่ท้ายรถหรือเสื้อผ้า ประโยชน์ของการปั่นรถจักรยาน  ด้านสุขภาพทำให้ร่างกายแข็งแรง นอนหลับสนิท สบายตัว ด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ลดปัญหาจราจร ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ด้านสังคม มีเพื่อนมากขึ้น ลดการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงเพราะการปั่นจักรยานในชุมชนไม่ต้องใช้ความเร็วมาก ด้านเศรษฐกิจ ในระดับครอบครัวประหยัดค่าน้ำมันรถหรือค่าแก๊ส ในระดับประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง

ประโยชน์ของการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่เด็กเยาวชนให้ความสนใจ แต่ทว่ายังมีทัศนคติและประสบการณ์จากการใช้จักยานที่ทำให้เด็กเยาวชน ไม่อยากใช้จักรยาน ซึ่งแบ่งได้เป็น 2ประเด็นคือภายในตัวเด็กเยาวชน กลัวเกิดอุบัติเหตุรถล้มและรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ชน  การไม่มีอุปกรณ์ล็อครถจักรยานที่ดี   กลัวการเจ็บป่วยจากการใช้จักรยานตากฝนตากแดด ส่วนเรื่องภายนอกคือ การไม่ที่จอดรถที่ปลอดภัย  รถหาย  การถูกสุนัขไล่กัด  เพื่อนแกล้ง เช่น ปล่อยลมยาง หรือนำรถไปใช้ทำให้รถพัง  ทำให้เห็นว่าเรื่องส่วนใหญ่ที่ทำให้เด็กเยาวชนไม่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันนั้น เป็นเรื่องภายนอกตัวเด็กเยาวชน ซึ่งสามารถคลี่คลายได้ถ้าได้รับการสนับสนุนและดูแลจากคนในชุมชน ผู้นำชุมชน โรงเรียนและหน่วยปกครองส่วนท้องถิ่น  ซึ่งทางทีมชมรมจักรยานฯ นั้นพยายามชักชวนให้เด็กเยาวชนหันมาใช้จักรยานในด้านอื่นๆ ให้มากขึ้น   จึงมีการให้ความรู้และฝึกทักษะใหม่กับเด็กเยาวชนในเรื่องกระบวนการศึกษาชุมชน และทักษะการทำแผนที่เดินดิน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1.      ศึกษาสภาพทั่วไปของชุมชน คือการทำความรู้จักกับชุมชนที่เราจะเข้าไปศึกษา เช่น อ่านข้อมูลมือ 2 ดูแผนที่ ตำแหน่งที่ตั้ง

2.      กำหนดวัตถุประสงค์ของการสำรวจชุมชน เป็นการกำหนดว่าเราต้องการจะสำรวจชุมชนไปเพื่ออะไร เช่น ต้องการนำข้อมูลไปทำแผนที่ชุมชนหรือแผนที่เดินดิน ต้องการสำรวจปัญหาในชุมชน ต้องการสำรวจความต้องการหรือสิ่งที่อยากทำในชุมชน เป็นต้น

3.      กำหนดวิธีการสำรวจ เป็นการกำหนดเครื่องมือที่จะใช้ในการสำรวจ ซึ่งต้องสอดคล้องกับผลที่จะได้รับด้วย เช่น หากใช้วิธีเชิงคุณภาพ ต้องใช้เครื่องมือในการสำรวจได้แก่ การสังเกต การสัมภาษณ์ การจดบันทึก การสำรวจ แผนที่เดินดิน เป็นต้น แต่หากเป็นเชิงปริมาณ จะใช้เครื่องมือในการสำรวจ เช่น แบบสอบถาม เป็นต้น

4.      เตรียมการสำรวจชุมชน เช่น การวางแผนงาน การเตรียมอุปกรณ์ การเตรียมความเข้าใจกับทีมงาน แบ่งหน้าที่ในทีมเช่น หัวหน้ากลุ่ม คนจดบันทึก คนคุมเวลา คนดูแลอุปกรณ์ เป็นต้น

5.      ปั่นจักรยานหรือเดินสำรวจชุมชน

6.      รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการจัดแยกข้อมูลตามประเด็นที่เราต้องการ และครุ่นคิดถึงสาเหตุแนวทางแก้ไข

7.      เห็นแนวทางการพัฒนาชุมชน

  

จากนั้น วิทยากรกระบวนการได้แนะนำให้เด็กเยาวชนรู้จักเครื่องมือ “แผนที่เดินดิน” ที่จะใช้ในการสำรวจชุมชน โดยเรียนรู้หลักของการทำแผนที่เดินดิน คือ เป็นแผนที่ที่เกิดจากการสำรวจลักษณะทางกายภาพและสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยต้องเดินไปดู ไปสัมผัสด้วยสายตาตนเอง แผนที่เดินดินจะช่วยให้เห็นภาพรวมของชุมชน เช่น เห็นบ้านของปราชญ์ชาวบ้าน เห็นบ้านของคนป่วยหรือคนที่ต้องการความช่วยเหลือ การทำแผนที่เดินดินจะเห็นความหมายและหน้าที่ทางสังคมของชุมชน (Social Meaning และ Social Function) นั้นๆ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนมากขึ้น

เมื่อเด็กเยาวชนได้เรียนรู้การสำรวจทำฐานข้อมูลชุมชนแล้ว ชมรมจักรยานฯ ได้เสริมสร้างกรอบแนวคิดการแก้ปัญหาตามหลักธรรมพุทธศาสนา คือหลักอริยสัจ 4 ที่สามารถนำไปแก้ไขปัญหาในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในชีวิตประจำวันหรือปัญหาอื่นๆ อริยสัจ 4 ประกอบด้วย ทุกข์ หมายถึง ตัวปัญหา สิ่งที่ต้องเผชิญ สมุทัย หมายถึง เหตุหรือสาเหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ที่เราควรแก้ไข นิโรธ หมายถึง ความดับทุกข์ คือ การแก้ปัญหาสำเร็จ เราต้องทราบจุดหมายที่ต้องการแก้ไขปัญหาคืออะไรจึงจะหามรรคได้ มรรค หมายถึง ทางเดิน หรือข้อปฏิบัติที่ต้องลงมือทำ มีองค์ประกอบ 8 ประการเพื่อแก้ปัญหาหรือดับทุกข์

การลงสำรวจชุมชน มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กได้รู้จักทรัพยากรของชุมชน ได้รู้จักคนในชุมชน และได้แนวทางการพัฒนาชุมชน เด็กเยาวชนใช้การปั่นจักรยานเป็นหลักเพราะชุมชนมีพื้นที่กว้าง การปั่นจักรยานทำให้เด็กเยาวชนแต่ละกลุ่มใช้เวลาเพียง 2-3ชั่วโมง สามารถสำรวจได้ทั้งข้อมูลทางกายภาพ จากการสังเกต สัมผัส และข้อมูลเชิงความคิดของคนที่อยู่ในเส้นทางสำรวจ จากการสัมภาษณ์ ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นแนวทางแก้ไขปัญหานั้นๆ ด้วย เมื่อเด็กเยาวชนนำข้อมูลมาจัดเรียงเป็นแผนที่ ข้อมูลความคิดเห็นเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่นำมาวิเคราะห์ถกคิดหาทางแก้ไขปัญหานั้น ซึ่งทำให้ได้แนวทางการแก้ปัญหาที่ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่นั้นๆด้วย  เช่น  โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสวนหย่อมรอรถประจำทางหน้าหมู่บ้าน

            ทุกข์ ได้แก่ มีขยะเกลื่อนกลาด ไฟไม่สว่าง หญ้าขึ้นรก

            สมุทัย ได้แก่ ไม่มีคนดูแล ไม่มีถังขยะ

            นิโรธ ได้แก่ มีที่รอรถประจำทางที่สะอาด สว่าง ปลอดภัย

            มรรค ได้แก่ จัดกิจกรรมเก็บขยะ ติดตั้งถังขยะ ติดตั้งหลอดไฟบริเวณสวนหย่อม 

ผลที่เกิดขึ้น

ด็กเยาวชน ที่เข้าร่วมกิจกรรม มีทั้งสิ้น 139 คน  แยกเป็นเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา  65 คน เด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษา 74 คน และมีผู้นำชุมชน คุณครู ผู้ปกครอง มาร่วมกิจกรรมอีกประมาณ 200 คน กิจกรรมนี้แม้จะมุ่งเป้าที่เด็กเยาวชน แต่ก็ทำให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ไปด้วย ซึ่งสิ่งที่เด็กเยาวชนได้เรียนรู้ทั้งเรื่องสถานการณ์สิ่งแวดล้อม ประโยชน์ของการใช้จักรยาน กระบวนการศึกษาชุมชน หลักอริยสัจ 4  นั้นจากการประเมินผลก่อนและหลังกระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการ พบว่าเด็กเยาวชนมีระดับความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นโดยเฉลี่ย 20% จากความรู้เดิมก่อนการอบรม และจากการให้เด็กเยาวชนครุ่นคิดถึงความรู้ใหม่ที่ตนเองได้รับอย่างเป็นรูปธรรม พบว่า กิจกรรมครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ

·       ฝึกการสังเกต สำรวจหมู่บ้าน ได้รู้จักสถานที่สำคัญๆ ในหมู่บ้าน ทำให้รู้จักหมู่บ้านมากขึ้น เช่น สังเกตว่าชุมชนเราไม่ค่อยสะอาด สังเกตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเพื่อแก้ไข

·       ฝึกการทำแผนที่เดินดิน เช่นการกำหนดสัญลักษณ์ต่างๆ ความสนุกสนานจากการเข้าร่วมกิจกรรม

·       ฝึกการคิดเป็นระบบ การแก้ปัญหา การวิเคราะห์ปัญหาด้วยหลักอริยสัจ 4

·       เรียนรู้เรื่องประโยชน์ของจักรยาน การปั่นที่ถูกวิธี และการตรวจสภาพรถจักรยาน

·         เรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นกลุ่มและการแบ่งบทบาทหน้าที่ได้ความสามัคคีและได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม เรียนรู้การบริหารเวลา

·         เรียนรู้เรื่องอริยสัจ 4ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และการแก้ไขปัญหาด้วยหลักอริยสัจ 4

·         เรียนรู้เรื่องวิธีลดโลกร้อน ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ

  

กระบวนการของโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์  ได้ปลูกฝังเรื่องสำคัญที่เป็นประโยชน์กับเด็กเยาวชนและชุมชน คือการทำให้เด็กเยาวชนเกิดความเข้าใจในการนำหลักการคิดวิเคราะห์แบบอริยสัจ 4 ไปใช้ในชีวิตส่วนตัว ตระหนักรู้ว่าการแก้ไขปัญหาจะต้องเริ่มต้นที่ตัวเราก่อนที่เราต้องมีวินัย และมีการคิดที่เป็นระบบ ดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน  และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียน เช่น การสังเกต การบันทึกข้อมูล การทำงานเป็นทีม   อีกทั้งเกิดความรู้สึกว่าเด็กเยาวชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนได้ เช่น ช่วยเก็บกวาดขยะ รักษาความสะอาด แยกขยะ  การสำรวจทำฐานข้อมูลชุมชน และที่สำคัญคือมีความรู้สึกอยากจะเพิ่มการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น ปั่นไปซื้อของ ไปโรงเรียน ไปทำบุญที่วัด  ทำกิจกรรมเก็บขยะ ฯลฯ  อันเป็นการร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้น่าอยู่มากขึ้น

สิ่งที่ควรพัฒนาต่อ

กิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ :ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค  ส่งผลตามวัตถุประสงค์โครงการอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะการสร้างทัศนคติที่ดีกับเด็กเยาวชนและคนในชุมชนในการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ซึ่งก่อผลดีหลายประการ นับว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งในกระบวนการรณรงค์ให้เกิดชุมชนจักรยานขึ้นในสังคมไทย เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่มุ่งเป้าไปที่กลุ่มเป้าหมายอันเป็นฐานรากของชุมชน สังคม ด้วยการปลูกฝังให้เด็กเยาวชน เห็นความสำคัญของการใช้จักรยาน  การดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่องจึงเป็นหนทางหนึ่งในการร่วมสร้างชุมชนจักรยานขึ้นในสังคมไทย  ในการดำเนินงานโครงการระยะต่อไปจึงควรมีการพัฒนากระบวนการทำงานดังนี้

·       ควรมีการวางแผนดำเนินการในช่วงก่อนปิดภาคเรียนร่วมกับผู้นำชุมชน โรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กนักเรียนในชุมชน  และขยายพื้นที่เป้าหมายให้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการดำเนินการโครงการชุมชนจักรยานอยู่แล้ว และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะทำให้การทำงานหนุนเสริมกันนำไปสู่การสร้างชุมชนจักรยานได้ดียิ่งขึ้น

·       ควรมีการเพิ่มกิจกรรมให้ผู้ปกครองได้ร่วมปั่นจักรยานกับเด็กเยาวชน เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีของผู้ปกครองต่อการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของบุตรหลาน เช่น การดูแลความปลอดภัย  เส้นทางปั่นจักรยานในชุมชนที่ปลอดภัย  การทำให้เด็กเยาวชนไม่กลัวสุนัขดุ เป็นต้น และยังเป็นการร่วมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว นำไปสู่การสร้างชุมชนสุขภาวะ อีกด้วย

·       กิจกรรมการพัฒนาชุมชนหรือการพัฒนาโรงเรียน ที่เด็กเยาวชนได้ร่วมกันพัฒนา ควรได้รับการหนุนเสริมให้เกิดการลงมืออย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาร่วมสนับสนุน เพื่อทำให้เด็กเยาวชนเห็นว่าความรู้ แนวคิดของตนเองสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ อันเป็นการร่วมสร้างจิตสำนึกความเป็นเจ้าของชุมชน นำไปสู่การสร้างพลเมืองร่วมพัฒนาชุมชนต่อไป 

            

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

Leave a Reply

Your email address will not be published.