Home / Articles / เค็งกูรู รถยนต์สำหรับคนพิการที่ต้องใช้รถเข็น

เค็งกูรู รถยนต์สำหรับคนพิการที่ต้องใช้รถเข็น

เค็งกูรู รถยนต์สำหรับคนพิการที่ต้องใช้รถเข็น

การมีความพิการทางกาย โดยเฉพาะกับร่างกายส่วนล่างที่ทำให้ไม่สามารถใช้ขาและเท้าได้เหมือนคนทั่วไป เป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการใช้ชีวิตของพวกเขาโดยเฉพาะในการเดินทาง ถึงแม้จะมีรถเข็น รวมทั้งรถเข็นที่มีเครื่องยนต์ขับเคลื่อน ก็ช่วยให้พวกเขาเดินทางได้เพียงในระยะใกล้ๆ หากจะต้องเดินทางในระยะที่ไกลออกไปและจำเป็นต้องใช้ถนนแล้ว ที่ผ่านมาจะทำได้ยากลำบาก จำเป็นต้องใช้รถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นรถส่วนตัว รถแท็กซี่ หรือรถประจำทางที่ปรับหรือดัดแปลงจากแบบมาตรฐานทั่วไปเป็นพิเศษให้สามารถนำรถเข็นขึ้นไปโดยมีคนช่วยได้ และคนพิการก็ไม่สามารถขับรถยนต์คันนั้นด้วยตนเองได้ ต้องมีคนมาขับให้

แต่บัดนี้มีรถยนต์ที่ออกแบบและผลิตออกมาเฉพาะให้คนพิการเท่านั้นใช้ โดยสามารถนำรถเข็นขึ้นไปและขับไปได้ด้วยตนเองด้วยคันบังคับคล้ายแฮนด์รถจักรยาน  รถนี้มีชื่อว่า “เค็งกูรู” (KENGURU) 

  

ค็งกูรูเกิดมาจากความตั้งใจเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นของหญิงพิการชาวอเมริกันชื่อ สเตซี่ โซเอิร์น (Stacy Zoern) เธอมีอาการกล้ามเนื้อฝ่อมาตั้งแต่กำเนิด ทำให้เคลื่อนไหวได้จำกัด และต้องใช้รถเข็นในการไปไหนมาไหน และถ้าหากต้องใช้รถยนต์ก็ต้องพึ่งพาอาศัยเพื่อนขับไปส่ง หรือใช้รถแวนที่ทำพิเศษสำหรับรถเข็น ซึ่งเธอไม่ชอบเลยที่ต้องไปรบกวนคนอื่นเช่นนั้น  หลังจากค้นคว้าอย่างมาก โดยเฉพาะทางอินเตอร์เน็ต ในปี 2010เธอก็ไปพบเจ้าเค็งกูรู รถยนต์ที่ออกแบบมาเป็นการเฉพาะสำหรับคนพิการที่ใช้รถเข็นจอดจมฝุ่นอยู่ในโรงรถที่ประเทศฮังการี

เธอคิดว่าเยี่ยม เจ้ารถอัจฉริยะนี่เหมาะเหม็งกับฉันเลย ถ้าได้มาใช้สักคัน ชีวิตฉันต้องเปลี่ยนแน่นอน  แต่เมื่อเธอโทรศัพท์ไปสั่งซื้อ กลับได้รับคำตอบมาจากประธานบริษัทนั้นว่า เค็งกูรูยังเป็นเพียงรถยนต์ต้นแบบเท่านั้น ไม่มีการผลิตออกมา เพราะเงินที่จะมาลงทุนหายไปหมดหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก  เขาขอให้เธอโทรศัพท์มาหาเขาใหม่อีกสี่ปีข้างหน้า!!!เธอไม่คอยถึงสี่ปี แต่โทรศัพท์กลับไปหาเขาอีกสี่วันต่อมาและถามว่าจะต้องใช้เงินสักเท่าไร ซึ่งก็ได้รับคำตอบมาพร้อมเสียงหัวเราะว่าน่าจะสักราว 3 ล้านดอลลาร์ (ราว 90 ล้านบาท) ก็น่าจะหัวเราะอยู่นะครับในสภาพเศรษฐกิจแบบนั้น จะหาเงินลงทุนมากๆไม่ใช่เรื่องง่าย

และเธอก็พบเช่นนั้นจริงๆ แต่เธอไม่ยอมแพ้ เธอโทรศัพท์ไปหาญาติ หาเพื่อน พยายามโน้มน้าวให้เห็นโอกาส ในที่สุดเช็คก้อนแรก 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 12 ล้านบาท) ซึ่งเธอนำไปตั้งบริษัท ถึงตั้งบริษัทได้แล้ว อุปสรรคก็ยังไม่หมดไปเนื่องจากเค็งกูรูถูกออกแบบขึ้นมาในยุโรปที่ใช้ระบบเมทริก (Metric) คือวัดระยะเป็นหน่วยเมตร เซนติเมตร ฯลฯ อย่างที่เราใช้กันเป็นมาตรฐานในไทยและประเทศส่วนใหญ่ในโลก ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกายังใช้หน่วยอังกฤษที่วัดระยะเป็น นิ้ว ฟุต ฯลฯ เป็นมาตรฐาน การผลิตรถยนต์โดยใช้หน่วยเมตริกก็ทำได้ แต่ต้นทุนจะสูงขึ้นอีกมาก จึงต้องเปลี่ยนหน่วยมาให้เป็นระบบอังกฤษ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และแค่เปลี่ยนหน่วยนี้ก็ใช้เวลาไปอีกหลายเดือน  เมื่อผลิตชิ้นส่วนออกมาได้ การประกอบก็เป็นปัญหาอีก มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จนถึงขั้นหนึ่งมีเงินเหลือในบัญชีเพียงไม่กี่ดอลลาร์ สเตซี่เองเอาเงินที่เธอสะสมมาทั้งชีวิตมาลงในโครงการนี้หมดเช่นเดียวกับหุ้นส่วนทางธุรกิจ

แต่การที่เธอเป็นคนพิการมาตลอดชีวิตจึงไม่เคยพบกับอะไรที่ง่ายดาย ทุกอย่างที่ได้มาเหมือนจะต้องผ่านการต่อสู้ ทำให้เธอเป็นคนเข้มแข็ง ไม่ท้อถอยหมดกำลังใจหรือยอมแพ้อะไรง่ายๆ และความมุ่งมั่นของเธอก็เป็นผล เงินเริ่มไหลเข้ามาอีก และเค็งกูรูรุ่นแรก Kenguru B1  ก็ออกมาให้สั่งซื้อได้ในราคาคันละ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 600,000 บาท) เป็นรถไฟฟ้าที่สามารถไปได้ 60 ไมล์ (96 กิโลเมตร) ด้วยการชาร์จไฟฟ้าชั่วคืน และทำความเร็วได้สูงสุด 25 ไมล์หรือ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามที่กฎหมายของสหรัฐอเมริกาอนุญาต เหมาะสำหรับการเดินทางทั่วไปในชีวิตประจำวัน มันจึงได้รับฉายาว่าเป็น “รถชุมชน” (community car)

สิ่งที่ทำให้เค็งกูรูเหนือกว่ารถยนต์ทั่วไปที่ดัดแปลงมาให้คนพิการใช้ อยู่ที่การเอารถเข็นเข้าไปในรถ ซึ่งกับรถยนต์ทั่วไปทำไม่ได้ง่าย ต้องใช้เวลา ไม่สะดวกเลยเมื่อมีฝนหรือหิมะตก นอกจากนั้นคนพิการยังต้องใช้กล้ามเนื้อไหล่อย่างมากในการพารถเข็นขึ้นและเข้าไปในรถยนต์ซึ่งไม่ใช่สิ่งดีหากต้องทำบ่อยๆ  ทั้งยังต้องใช้รถแวนดัดแปลงซึ่งมีราคาราว 45,000-50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.35-1.5 ล้านบาท)

สเตซี่ไม่หยุดเพียงเท่านั้น เค็งกูรูรุ่นต่อไปจะเป็นรถยนต์สำหรับรถเข็นติดเครื่องยนต์ไฟฟ้าที่สามารถควบคุมได้ด้วยคันบังคับแบบ joystick ซึ่งจะช่วยผ่อนแรงให้คนพิการเป็นอย่างมาก  เธอคิดว่าไม่น่าจะเหลือบ่าฝ่าแรงเพราะทุนในการผลิตรุ่นแรก 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็หามาได้แล้ว และตอนนี้เธอก็ได้โรงงานในรัฐฟลอริดาที่สามารถผลิตเค็งกูรูออกมาได้ปีละ 500 คัน  เธอคาดว่าจะเพิ่มการผลิตเป็นปีละ 3,000-4,000 คันในห้าปีข้างหน้า ซึ่งเธอคิดว่าไม่มากเลยเมื่อคำนึงว่ามีคนพิการที่ต้องใช้รถเข็นอย่างเธอไม่น้อยกว่า 16 ล้านคนทั่วโลก

อยากรู้จักเจ้าเค็งกูรูเพิ่มเติม ร่วมลงทุน หรือสั่งซื้อ  เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.kenguru.com

—————————————————————————————————————————————————————————-

กวิน ชุติมา เรียบเรียงจากวิดิโอคลิปชื่อ Looks like she’s driving any ordinary car, But now wait until she comes out  ซึ่งดูได้ที่ http://thesocialcrat.com/

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

Leave a Reply

Your email address will not be published.