จักรยานคืองานศิลป์ คือนวัตกรรมการออกแบบที่สร้างแรงบันดาลใจ
ขณะนี้กำลังมีนิทรรศการชุดใหม่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในชื่อ “การปฏิวัติจักรยาน” (Cycle Revolution)นัยว่าเพื่อเฉลิมฉลองความรักที่มีต่อจักรยานของชาวอังกฤษ หลักฐานประการหนึ่งคือ เมื่อปีที่แล้ว(2557) ชาวอังกฤษขี่จักรยานรวมกันเป็นระยะทางกว่า 5,230 ล้านกิโลเมตร มากที่สุดในรอบ 25 ปี และเนื่องจากสภาพการจราจรที่ติดขัด รวมกับกระแสความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพ ทำให้ชาวอังกฤษหันมาใช้จักรยานเป็นวิธีเดินทางในชีวิตประจำวันมากขึ้นทุกที จักรยานในฐานะกีฬาก็กำลังอยู่ในกระแสขึ้นในอังกฤษเช่นกันนับแต่คริส บอร์ดแมน นำเหรียญทองจักรยานในกีฬาโอลิมปิกมาสู่อังกฤษเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปีเมื่อปี 2535 ตามมาด้วยคริส ฮอย และมาสุดยอดกับการชนะตูร์เดอฟรองซ์ถึงสามครั้งในรอบสี่ปีที่ผ่านมาของแบรดลี วิกกินส์ และแชมป์ปีที่แล้ว คริส ฟรูม ซึ่งหลายคนทำนายว่าจะครองเจ้าการแข่งจักรยานที่ว่ากันว่าทรหดที่สุดรายการนี้ไปหลายปี
ในการเฉลิมฉลองนี้ พิพิธภัณฑ์การออกแบบ (Design Museum)เลือกเอาจักรยานมาเสนอในฐานะที่เป็น “งานศิลป์” เป็นนวัตกรรมการออกแบบที่สวยงาม สร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ โดยจัดเป็นสี่กลุ่มคือ จักรยานสมรรถภาพสูง จักรยานที่ให้ความตื่นเต้น จักรยานเมือง และจักรยานขนส่งสินค้า รวมทั้งส่วนแสดงพิเศษที่ว่าด้วยอนาคตของการออกแบบจักรยานเป็นการเฉพาะ สำนักข่าว BBC เลือกเอาจักรยานที่ได้รับการออกแบบอย่างโดดเด่นที่สุดของอังกฤษสี่แบบที่นักวิจารณ์ศิลป์มองว่าเป็น “การออกแบบที่คลาสสิก” มาเสนอ
Raleigh Chopper (Credit: Chesh/Alamy Stock Photo)
แบบแรกคือ Raleigh Chopper ราเลห์ บริษัทอังกฤษที่ผลิตจักรยานที่มีชื่อเสียงในด้านความทนทานขายออกไปสร้างความนิยมในการใช้จักรยานทั่วโลก รวมทั้งในไทย ออกแบบจักรยานรุ่นนี้ขึ้นมาเลียนแบบจักรยานยนต์อเมริกันที่พีเทอร์ ฟอนดา กับ เดนนิส ฮอปเปอร์ ขี่ในภาพยนตร์เรื่อง Easy Rider โดดเด่นด้วยการมีแฮนด์สูงและเบาะที่นั่งมีพนักรองหลัง ราเลห์ชอปเปอร์กลายเป็นจักรยานยอดนิยมของเด็กอังกฤษในทศวรรษ 1970 และขายออกไปกว่า 1.5 ล้านคัน
Lotus Type 108 (Credit: Design Museum, London)
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2535 คริส บอร์ดแมนขี่จักรยาน Lotus Type 108 ได้เหรียญทองในการแข่งขันรุ่น 4,000 m.Individual Pursuit ของกีฬาโอลิมปิกที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน สร้างความตื่นเต้นไปทั่วจากการเป็นครั้งแรกที่อังกฤษได้เหรียญทองการแข่งขันจักรยานในมหกรรมกีฬาโลกนี้ในรอบ 70 ปี การออกแบบที่ “ปฏิวัติ” มากที่สุดของโลตัสแบบ 108 คือการมีตัวถังหรือเฟรมเป็นวัตถุชิ้นเดียว(monocoque)ที่ทำด้วยคาร์บอนไฟเบอร์และออกแบบมาเพื่อให้ต้านลมน้อยที่สุด แบบเบื้องต้นติดใจโลตัส บริษัทผลิตรถแข่งสูตรหนึ่งของอังกฤษ จึงเอาไปสร้างและทดลองในอุโมงค์ลม กลายเป็นจักรยานรูปทรงอนาคตที่ได้รับฉายาว่า “ซูเปอร์ไบค์” เพราะคริส บอร์ดแมน ทำลายสถิติโลกถึงสองครั้งติดกันในรอบคัดเลือกก่อนจะไปคว้าเหรียญทอง และบีบีซีเลือกมาเป็นแบบที่โดดเด่นแบบที่สอง
The SplinterBike (Credit: splinterbike.co.uk)
ถึงแม้ว่าจักรยานจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีมาแต่ศตวรรษที่ 19 แต่เชื่อไหมครับว่า ร้อยห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา การออกแบบจักรยานโดยพื้นฐานแล้วเปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก ที่เปลี่ยนไปมากที่สุดคือเทคโนโลยีและวัสดุที่ใช้ในการผลิต สิ่งที่ทำให้บีบีซีเลือก SplinterBike มาเป็นการออกแบบที่โดดเด่นแบบที่สามคือ แม้รูปร่างภายนอกจะเห็นว่าเลียนแบบมาจากโลตัส 108 สปลินเทอร์ไบค์ทั้งคันทำจากชิ้นไม้ white ashกับ beech และไม้ที่ “หล่อลื่น” ตนเองเมื่อขบกัน ไม่มีวัสดุอื่นอีกเลย เมื่อใช้แต่ไม้กับกาว จักรยานนี้จึงไม่มีโซ่ แต่ส่งพลังจากจากบันไดไปล้อหลังด้วยระบบเกียร์ที่ทำด้วยไม้ เมื่อผลิตออกมาในปี 2555 แล้วนำไปทดลอง ก็สามารถทำ “สถิติโลกบนพื้นดินของจักรยานที่ทำด้วยไม้ร้อยเปอร์เซนต์” ด้วยความเร็ว 18.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ต้นแบบจักรยาน Brompton (Credit: Brompton)
การออกแบบจักรยานที่โดดเด่นที่สุดของอังกฤษแบบที่ 4 จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก Brompton หลายคนอาจไม่รู้ว่า บรอมตันมีอายุเพียง 40 ปี แอนดรู ริทชี นักประดิษฐ์ ออกแบบและสร้างต้นแบบคันแรกขึ้นมาในแฟลทของเขาเองและได้ชื่อมาจากโบสถ์โรมันคาทอลิกที่อยู่ติดกันในย่านเซาท์เคนซิงตันของลอนดอน แบบที่ริทชีออกไว้แต่ต้นเป็นแบบที่บรอมตันยังใช้อยู่จนทุกวันนี้ โดดเด่นด้วยโครงสร้างด้านหลังรูปสามเหลี่ยมที่เป็นแกนหมุนให้ล้อพับเข้ามาอยู่ใต้ตัวถังได้ ซึ่งหลายคนยังมองว่าทำให้บรอมตันมีระบบการพับจักรยานที่ดีที่สุด ไม่มีจักรยานพับใดๆ ที่ออกมาทีหลังเทียบได้ แต่ถึงแม้จะมีแบบที่เป็นนวัตกรรมเช่นนี้ ริทชีก็ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะหาทุนมาสนับสนุนการผลิตได้ บรอมตันเพิ่งมีการผลิตเต็มรูปเมื่อปี 2531 นี่เอง และทุกวันนี้บรอมตันกว่า 45,000 คันที่ผลิตออกมาในแต่ละปีก็ยังทำด้วยมือทั้งหมดในโรงงานเล็กๆ ใต้สะพานรถไฟทางตะวันตกของกรุงลอนดอน กระนั้นปัจจุบันบรอมตันก็เป็นผู้ผลิตจักรยานที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษและขายออกไป 44 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทยที่มีตัวแทนจำหน่ายด้วย แสดงถึงความนิยมใช้จักรยานพับที่เพิ่มขึ้นจากความสะดวกสำหรับการใช้เดินทางในเมือง ว่ากันว่าเฉพาะในลอนดอนเองก็มีบรอมตันแล่นอวดโฉมอยู่กว่า 80,000 คัน
——————————————————————————————————————————————————————————————-
กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เก็บความมาเขียนจาก Cycle revolution: The most beautiful British bike designs โดย Alastair Sooke ใน www.bbc.com