Home / News and Events / News / ฝึกอบรมวิทยากรพี่เลี้ยงและผู้รับผิดชอบโครงการเมืองคาร์บอนต่ำ-เมืองจักรยาน-เมืองรู้สู้ภัยพิบัติ

ฝึกอบรมวิทยากรพี่เลี้ยงและผู้รับผิดชอบโครงการเมืองคาร์บอนต่ำ-เมืองจักรยาน-เมืองรู้สู้ภัยพิบัติ

ฝึกอบรมวิทยากรพี่เลี้ยงและผู้รับผิดชอบโครงการเมืองคาร์บอนต่ำ-เมืองจักรยาน-เมืองรู้สู้ภัยพิบัติ

บางส่วนของผู้เข้าร่วมฝึกอบรมและวิทยากร

ตามที่ได้รายงานข่าวไปแล้วว่า สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) ได้ร่วมมือกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.), ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยและสำนักงานเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNISDR) จัดทำโครงการสร้างเมืองคาร์บอนต่ำ เมืองจักรยาน และเมืองรู้สู้ภัยพิบัติ สู่เมืองสุขภาวะที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน หรือ Project to Strengthen Low Carbon & Bike and Walk & Resilient Society towards Sustainable City  (LCRS)  และได้ดำเนินการสองขั้นตอนแรกคือ การประชุมคณะทำงานพัฒนากรอบแนวคิด เกณฑ์ชี้วัด และแนวปฏิบัติ ในการพัฒนาสู่เมืองคาร์บอนต่ำ เมืองจักรยาน และเมืองรู้สู้ภัยพิบัติ ครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน และ 15 ธันวาคม 2558 (อ่านข่าวการประชุมทั้งสองได้ที่ www.thaicyclingclub.org)

เมื่อได้กรอบแนวคิด แนวปฏิบัติ และเกณฑ์ชี้วัดเบื้องต้นฯ ออกมาแล้ว โครงการฯ ได้ส่งหนังสือเชิญชวนเทศบาลที่เห็นว่าน่าจะสนใจด้านสิ่งแวดล้อมประมาณ 100แห่ง ให้สมัครเข้าร่วม 2โครงการที่เชื่อมโยงกันคือ 1)โครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสู่เมืองคาร์บอนต่ำ และ 2)โครงการสร้างเมืองคาร์บอนต่ำ-เมืองจักรยาน-เมืองรู้สู้ภัยพิบัติ สู่ท้องถิ่นสุขภาวะที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน มี อปท.สนใจสมัคร 70แห่ง  ทางโครงการฯ จึงคัดเลือกตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้เทศบาลที่มีศักยภาพในการเข้าร่วมโครงการ 47แห่ง โดยแบ่งเป็น 2กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1เป็นเทศบาลที่ยังไม่เคยจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับใดๆ เลย และเทศบาลที่เคยผ่านการจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างใดอย่างหนึ่งมาแล้ว 31แห่ง และ กลุ่มที่ 2เป็นเทศบาลที่มีประสบการณ์ในการเข้าร่วมโครงการเทศบาลคาร์บอนต่ำฯ และผ่านการจัดทำทั้งคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและบัญชีก๊าซเรือนกระจกระดับเมืองมาแล้ว 16แห่ง

อบก. ได้เลือกเทศบาลในกลุ่มที่ 1ให้เข้าร่วมในโครงการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับเมืองก่อน และ ส.ท.ท. ได้เชิญเทศบาลในกลุ่มที่ 2ให้เป็นเทศบาลพี่เลี้ยงและเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ  เมืองจักรยาน และเมืองรู้สู้ภัยพิบัติ  โดยต้องทำหน้าที่เป็นเมืองต้นแบบให้เทศบาลในกลุ่มที่ 1และ อปท.อื่นๆ มาถอดแบบในอนาคตด้วย  เทศกาลในกลุ่มนี้ประกอบด้วยเทศบาลตำบลหาดเสี้ยว (สุโขทัย), เทศบาลเมืองพิจิตร, เทศบาลนครเชียงราย และเทศบาลนครลำปาง ในภาคเหนือ, เทศบาลเมืองสิงห์บุรี ในภาคกลาง, เทศบาลตำบลพนมสารคาม (ฉะเชิงเทรา) และเทศบาลเมืองพนัสนิคม (ชลบุรี) ในภาคตะวันออก, เทศบาลตำบลโคกกรวด (นครราชสีมา), เทศบาลเมืองยโสธร, เทศบาลเมืองศรีสะเกษ, เทศบาลเมืองหนองสำโรง (อุดรธานี) และเทศบาลนครขอนแก่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, และเทศบาลตำบลมาบอำมฤต (ชุมพร), เทศบาลเมืองทุ่งสง (นครศรีธรรมราช), เทศบาลนครหาดใหญ่ (สงขลา) และเทศบาลนครภูเก็ต ในภาคใต้

ดังนั้นเพื่อให้ 16เมืองที่ถูกคัดเลือกเป็นเมืองต้นแบบในอนาคตเกิดความเข้าใจต่อกรอบแนวคิดและแนวปฏิบัติของการพัฒนาสู่เมืองคาร์บอนต่ำ  เมืองจักรยาน และเมืองรู้สู่ภัยพิบัติอย่างชัดเจน  จึงได้จัดการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพวิทยากรพี่เลี้ยงและผู้รับผิดชอบโครงการของเมืองนำร่องขึ้นเมื่อวันที่ 24-25 ธันวาคม 2558 ที่โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีผู้เข้าร่วมประมาณ 35คน เป็นบุคลากรจากเทศบาล หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันวิชาการที่คัดเลือกแล้วว่าศักยภาพและมีจิตอาสาในการช่วยเหลือโครงการ, ผู้รับผิดชอบโครงการของเมืองนำร่อง และเจ้าหน้าที่จาก ส.ท.ท.  โครงการฯ ที่ปรึกษา และวิทยากรจากหน่วยงานร่วมดำเนินงาน

                                              

                       ผู้เชี่ยวชาญจาก UNISDR บรรยาย                                                     ไปดูงานเทศบาลนครปากเกร็ด

การฝึกอบรมในวันแรก เริ่มต้นด้วยเลขาธิการ ส.ท.ท. มากล่าวเปิดแทนนายกสมาคม  จากนั้นเป็นการชี้แจงความเป็นมา กรอบแนวคิด และแนวปฏิบัติของโครงการ โดยเจ้าหน้าที่โครงการฯ และเวลาที่เหลือในช่วงเช้าเป็นการบรรยายหลักการพื้นฐานของ “เมืองรู้สู้ภัยพิบัติ” และการทบทวนและประเมินปัจจัยด้านภัยพิบัติที่เมืองเคยประสบโดยทีมผู้เชี่ยวชาญจาก UNISDR  ในช่วงบ่าย ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมได้เดินทางไปศึกษาดูงานเรียนรู้จากศูนย์รักษ์ต้องลดของเทศบาลนครปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งเป็น อปท.ที่มีการบูรณาการยุทธศาสตร์มุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำลงภารกิจประจำและเป็นเมืองเดียวที่รอดพ้นจากภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในเมือง  

     

                                 นส.อัจจิมา อธิบายแนวคิดเมือง/ชุมชนจักรยาน              นายกวิน ยกตัวอย่างกิจกรรมและมาตรการกระตุ้นและส่งเสริมการใช้จักรยาน

ในช่วงค่ำ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ส่งทีมวิทยากรประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทั้งห้าคนนำโดย นส.อัจจิมา มีพริ้ง ผู้จัดการ และนายกวิน ชุติมา กรรมการ ไปจัดกระบวนการเรียนรู้แนวคิด รูปแบบ และแนวทางการพัฒนาสู่การเป็นเมืองและชุมชนจักรยาน รวมทั้งให้ตัวอย่างกิจกรรมหรือมาตรการที่เทศบาลและกลุ่มท้องถิ่นใช้ในการกระตุ้นและส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นใช้จักรยาน และให้ผู้เข้าร่วมอบรมลองเสนอด้วยว่าเทศบาลของตนน่าจะทำอะไรบ้าง

   

ฟังการบรรยายของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

วันที่สองของการฝึกอบรมเริ่มต้นด้วยการบรรยายในหัวข้อ “ประเทศไทยปรับตัวอย่างไร หลังร่วมลงนามข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 21(COP 21)?”  โดยนางณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการ และ
ดร.จักกนิตย์ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาศักยภาพและเผยแพร่องค์ความรู้ และผู้อำนวยการศูนย์วิชาการนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change International Technical and Training Center, CITC)  อบก.  จากนั้นเป็นการทำกระบวนการกลุ่มเพื่อเรียนรู้เครื่องมือในการประเมินสถานภาพเมืองและการพัฒนาแผนปฏิบัติการเบื้องต้นสู่เมืองคาร์บอนต่ำ เมืองจักรยาน และเมืองรู้สู้ภัยพิบัติ  ตอนท้ายมีการสรุปสิ่งที่ได้รับทั้งหมดและแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป และการกล่าวทิ้งท้ายให้คิดโดยนายสมชาย จริยเจริญ ผู้เชี่ยวชาญโครงการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของ ส.ท.ท.

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และผู้แทนชมรมฯ

ในคณะทำงานพัฒนากรอบแนวคิด เกณฑ์ชี้วัด และแนวปฏิบัติ ในการพัฒนาสู่เมืองคาร์บอนต่ำ เมืองจักรยาน และเมืองรู้สู้ภัยพิบัติ

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

Leave a Reply

Your email address will not be published.